นั่งสมาธิ ทำไมยากจัง

คงเป็นธรรมดาของการที่เราไม่เคยทำอะไรบางอย่าง และลองทำเป็นครั้งแรก ก็จะรู้สึกขัดๆ หรือยาก เป็นเรื่องธรรมดา การเรียนสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำรับคนธรรมดาอย่างเราที่มีชีวิตอันวุ่นวายอยู่ในสังคมและการทำงาน

หลายๆท่านคงมีปัญหาเหมือนๆกันเวลาหัดนั่งสมาธิใหม่ๆคือ เราก็ได้แต่นั่งขัดสมาธิ เอามือขวาหงายทับมือซ้าย ท่องพุทโธได้แค่คำสองคำ ใจของเราก็ไม่ได้อยู่ที่พุทโธแล้ว เตลิดไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้ อันนี้อยากให้ท่านเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของจิต (หรือใจ) ของเราเอง ไม่ได้แปลกอะไร

ใจของเรา มันก็มีคุณสมบัติของมัน เช่น ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว เป็นต้น แค่ท่านรู้คุณสมบัติเบื้องต้นของใจแค่นี้ท่านก็รู้แล้วใช่ไหมครับว่าใจเราเหมือนลิง แต่ไวยิ่งกว่า แค่เราจับลิงมาให้อยู่นิ่งๆก็ยากแล้ว จับใจให้อยู่นิ่งก็ยากยิ่งกว่า

แล้วจะทำอย่างไรให้ใจอยู่นิ่ง

ลิงอยู่นิ่งได้ก็ต้องฝึก ใจเราจะนิ่งจะสงบได้ก็ต้องฝึกเช่นกัน การที่เราทำงาน มีกิจกรรมมาทั้งวัน แล้วมานั่งสมาธิให้จิตใจสงบ บางครั้งมันเป็นการยากจริงๆ เหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยวมา แล้วเราเอาอะไรไปขวางให้หยุดนิ่ง มันก็เอาไม่อยู่ ถูกแรงน้ำพัดไปหมด วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การเดินจงกรม ก่อนนั่งสมาธิ การเดินจงกรมจะช่วยกรองอารมณ์ ช่วยลดระดับอารมณ์ที่วุ่นวายมาทั้งวัน เหมือนช่วยชะลอกระแสน้ำที่เชี่ยว

ผมเจอคนที่เคยลองทำสมาธิหลายท่าน ที่บางครั้งจิตใจไม่ค่อยนิ่งเวลานั่งสมาธิ เมื่อได้เดินจงกรมก่อน การนั่งสมาธิก็จะได้ผลดี ใจสงบขึ้นมาก บางคนที่มาเรียนที่สถาบันพลังจิตตานุภาพครั้งแรกๆ ก็แปลกใจที่ทำไมตัวเองรู้สึกสงบมากกว่าปกติ ก็เพราะเราเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิ

แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาทีก็ยากแล้ว

สำหรับคนเริ่มใหม่ (หรือแม้กระทั่งคนเก่า) แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาที ไม่ให้วอกแวกไปเรื่องอื่นเลย แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อันนี้ไม่ต้องตกใจครับเพราะเป็นกันทุกคน เราก็ต้องค่อยๆหัดตะล่อมใจตัวเองให้มาอยู่กับพุทโธ ฝึกให้ใจมาอยู่ที่จุดๆเดียวด้วยการนึกพุทโธ

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้กรุณาแนะนำว่า ให้สมมุติ “พุทโธ” เหมือนกับกระสุนปืน เมื่อมีอารมณ์หรือมีความคิดเข้ามา ให้เรานึกพุทโธเพื่อทำลายอารมณ์หรือความคิดเหล่านั้น เหมือนกับการที่เราเอากระสุนยิงศัตรู ยิ่งถ้ามีอารมณ์หรือความคิดเข้ามามาก ก็ให้เรานึกพุทโธถี่ขึ้น (ท่องพุทโธถี่ๆ) เหมือนกับเวลามีศัตรูเข้ามามาก ยิงกระสุนทีละนัดคงไม่ทัน ก็ต้องใช้การยิงปืนกลเพื่อฆ่าศัตรู (การนึกพุทโธ ไม่จำเป็นต้องตามจังหวะลมหายใจ)

ในบางครั้ง หากเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องคิด เราอาจจะคิดให้เสร็จขณะเดินจงกรมก็ได้ คิดเสร็จแล้วค่อยนึกพุทโธใหม่ก็ได้เช่นกัน การคิดในขณะที่เดินจงกรม ขณะที่ใจเราสงบ มีสมาธิ บางครั้งก็ทำให้เราได้ความคิดอะไรดีๆเหมือนกัน

สิ่งที่ยากกว่าคือการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่รู้กันแล้วว่า แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาทีก็ยากแล้ว แต่ทำอย่างไรที่เราจะฝึกนั่งสมาธิได้ทุกวัน อันนี้ยากกว่า แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้ ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับเวลาเราต้มน้ำ เรายกกาต้มน้ำบนเตาไฟ ตั้งแค่ 2 นาทีแล้วยกออก รอไปอีก 2 ชั่วโมง แล้วก็เอากาไปตั้งบนเตาอีกครั้ง ทำอย่างนี้ไปกี่เดือนกี่ปี น้ำไม่มีวันเดือดแน่นอน การทำสมาธิก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้ก็จะไม่เต็มที่

ใจของเรา มักจะสกปรกได้ง่าย สกปรกจากอารมณ์ต่างๆ ทั้งทำให้สุขและทุกข์ ในชีวิตประจำวันของเรา เจอกับอารมณ์ต่างๆเข้าสู่ใจตลอดเวลา ถ้าเราไม่หมั่นทำความสะอาด ใจของเราก็จะค่อยๆขุ่นมัว เพราะฉะนั้นเราควรจะปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความสะอาดใจของเรา แค่ครั้งละ 5 นาทีก็ได้ ทำวันละ 3 ครั้งเหมือนทานข้าว 3 มื้อ

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้สอนพวกเราว่า “การทำสมาธิ เวลาขยันก็ทำ เวลาขี้เกียจก็ต้องทำ” ผมก็ปฏิบัติตามนั้น หมายความว่า เวลาขี้เกียจ เราได้ทำน้อยดีกว่าไม่ได้ทำเลย แต่ทำให้เป็นนิสัย ในปัจจุบัน ผมสามารถตื่นตอนตีห้าครึ่ง นั่งสมาธิ เดินจงกรม อย่างละ 30 นาทีแทบทุกวัน จริงๆแล้วทำทุกวันครับ แต่วันที่นอนดึก ตื่นไม่ไหว อาจทำน้อยกว่า 30 นาที เพื่อทำให้ติดเป็นนิสัย

ทำสมาธิแล้ว เหมือนไม่ได้อะไร

เป็นความรู้สึกปกติครับ เพราะการเรียนสมาธิ เป็นการทำงานกับใจ เป็นเรื่องของนามธรรม มันวัดกันยาก จะมีใครมาวัดให้เราก็ไม่ได้ เหมือนกับเรารับประทานอาหารแล้วอร่อยหรืออิ่ม ไม่มีใครมาบอกได้ว่าเราอร่อยหรืออื่ม ตัวเราจะรู้ตัวเราเองไม่มีใครบอก

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้เปรียบเทียบเหมือนเราเรียนหนังสือแล้วได้ความรู้ ลองนึกดูซิครับเราเรียนหนังสือแล้วเราได้ความรู้เมื่อไหร่ ลองคิดถึงเด็กๆที่อ่านไม่ออก แล้วหัดอ่าน ก ข ค .. เขาได้ความรู้เมื่อไหร่ บางทีเราตอบไม่ได้ แต่รู้อีกทีตอนสิ้นเทอม หรือสิ้นปีว่าเขามีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว เขาอ่านออกเขียนได้แล้ว การเรียนสมาธิก็เช่นเดียวกัน ตัวเราเองจะค่อยๆพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย จนเวลาผ่านไป 2-3 เดือน เราจะสังเกตเห็นว่าเราเริ่มเปลี่ยนไป

รู้ได้อย่างไรว่าที่ทำสมาธิมาได้ผล

ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาครูสมาธิ อาจารย์ก็ถามพวกาเราอย่างนี้ในห้องเรียน หลังจากที่เราเรียนสมาธิไปได้ประมาณ 3 เดือน พวกเราก็ตอบกันไม่ค่อยถูกเหมือนกัน แต่พออาจารย์ตั้งคำถามใหม่ “ใครรู้สึกว่าตัวเองโกรธน้อยลง โกรธยาก หายเร็ว ซึาเศร้าน้อยลง นอนหลับสบายขึ้น หลับลึก ง่วงนอนน้อยลง ใจสบายขึ้น” พวกเราทุกคนเห็นด้วยว่าพวกเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นี่แหละครับการวัดผลขั้นต้น และเป็นผลที่ได้จากการเรียนสมาธิ

ถึงตอนนี้แล้ว ถ้าท่านทำความเข้าใจ และเริ่มคุ้นเคยกับการทำสมาธิ ก็จะเริ่มรู้ว่าการทำสมาธินั้นไม่ยาก จริงๆแล้วนอกจากปัญหากับใจข้างต้นแล้ว การเริ่มทำสมาธิใหม่ๆยังมีปัญหากับกาย เช่น นั่งนานแล้วปวดเมื่อย แรกๆอาจต้องอาศัยความอดทน ต่อจากนั้นก็จะเริ่มชิน สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ได้ นั่งเก้าอี้แทนก็ได้ครับ การทำสมาธิเรื่องใหญ่คือการทำงานกับใจ ถ้าเราทำงานกับใจเป็น เรื่องกายนั้นไม่ใช่ปัญหา

 ท่านสามารถศึกษาวิธีปฏิบัติของสถาบันพลังจิตตานุภาพโดยคลิก การเดินจงกรม และ  การนั่งสมาธิ   ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามวิธีการของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

4 Comments

  • By Hotel Phuket Thailand, 02/08/2011 @ 14:26

    เคยได้ยินมาว่า การเดินจงกลม จะได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่รู้จิงหรือป่าวครับ

  • By หางานภูเก็ต, 02/08/2011 @ 14:27

    แต่เชื่ออย่างนึ่งครับ ว่าการทำสมาธิ มีแต่ข้อดีครับ ไม่มีข้อเสียเลย

  • By lupthawit, 04/08/2011 @ 07:29

    การเดินจงกรม ได้สมาธิตื้น และได้ออกกำลังกายด้วย
    จะได้ประโยชน์มากกว่าการนั่งสมาธิ ในกรณีถ้าเรานั่งสมาธิแค่แป๊บเดียวแล้วเข้าภวังค์

  • By jj, 19/07/2012 @ 19:31

    อยากไปอบรมสมาธิที่สถาบันนี่ต้องไปสมัครที่ไหน มีรายละเอียดยังไไงบ้าง

Other Links to this Post

RSS feed for comments on this post. TrackBack URI

Leave a comment

*

WordPress Themes