ปัญหาบางปัญหา เราต้องแก้ทันที
ปัญหาบางปัญหา เราต้องค่อยๆแก้
ปัญหาบางปัญหา เราต้องหาวิธีการแก้ในอนาคต
ปัญหาบางปัญหา เราต้องวางเฉย และปล่อยผ่านไป
ปัญหาบางปัญหา เราแก้ไม่ได้ ต่อให้เทวดาก็แก้ไม่ได้
แต่ปัญหาทุกปัญหา เราต้องเข้าใจ ส่วนจะแก้อย่างไร เมื่อไหร่ แก้ได้หรือไม่ได้ ก็ตามความเหมาะสม
วันปีใหม่ มีไว้ทำไม หลายๆคนให้ความสำคัญกับวันปีใหม่มาก แต่วันปีใหม่ที่หลายคนให้ความสำคัญ อาจไม่มีความหมายเลยในสายตาของคนอีกหลายคน เช่น วันปีใหม่ไทย อาจไม่มีความหมายเลยสำหรับคนชาติตะวันตก วันปีใหม่จีน อาจไม่มีความหมายเลยสำหรับคนตะวันออกกลาง จริงๆแล้ววันปีใหม่ก็คือวันธรรมดาๆวันหนึ่งที่เราสมมุติขึ้นมาจริงๆไหมครับ
เรามีวันปีใหม่เพื่ออะไร
หลายคนมักจะตอบว่า เรามีวันปีใหม่เพื่อการเฉลิมฉลอง เพื่อเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เพื่อ… เยอะแยะ แต่โดยมากก็มักจะเป็นอะไรดีๆเพื่อให้ชีวิตตลอดทั้งปีดีขึ้นจริงไหมครับ
ในทัศนะของผม วันปีใหม่ก็เหมือนการครบรอบ ครอบรอบอีก 1 ครั้ง ในชีวิตคนทั่วๆไป การครบรอบแบบนี้ก็มักไม่เกิน 100 ครั้ง อาจมีบ้างบางคนที่เกิน 100 ครั้ง แต่ก็คงมีไม่มาก
การครบรอบแต่ละครั้งคงมีความหมายมากกว่าการที่เวลาผ่านไป 1 ปี เราเคยลองทบทวนดูหรือเปล่าครับว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของเราเอง เราได้ทำอะไรไว้บ้าง ทำสิ่งดีหรือสิ่งไม่ดีมากกว่ากัน สร้างสรรค์หรือทำลายมากกว่ากัน เราเคยประเมินตัวเองหรือเปล่าครับ
จริงๆแล้วหลายๆอย่างรอบตัวเราก็เป็นรอบแบบนี้นะครับ เช่น การทำงานของลูกจ้างทั้งเอกชน และข้าราชการ เมื่อครบ 1 ปี ก็จะมีการประเมินว่ามีผลงานแค่ไหน การดำเนินกิจการของบริษัทห้างร้าน เมื่อครบ 1 ปี รัฐก็จะให้ประเมินว่า ขาดทุนหรือกำไร ควรจะอยู่ต่อหรือไม่
การประเมินตัวเรามีหลายมิติครับ เช่น
– ความเป็นอยู่ เราทำงานผ่านไป 1 ปี ปีนี้ชีวิตเราดีขึ้นหรือไม่ ความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่
– ความรู้/ความสามารถ ผ่านไป 1 ปี เรามีความรู้ความสามารถอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เรามีปัญญาเพิ่มหรือไม่ หรือเราไม่ยอมเรียนรู้อะไรเพิ่มเลย และชีวิตก็มีแต่ปัญหา
– ฐานะทางการเงิน ผ่านไป 1 ปี เรามีทรัพย์สินมากขึ้น มีเงินเหลือเผื่อฉุกเฉิน มีเงินเหลือสำหรับลงทุนในอนาคต หรือ เรามีหนี้สินเพิ่มขึ้น
– ความเจริญ/การสร้างสรรค์ ผ่านไป 1 ปี เราสร้างผลงานหรือสิ่งดีๆอะไรไว้ให้กับโลกบ้าง หรือเราเกิดมาเพียงเพื่อมาใช้ทรัพยากรของโลก
– ความดี ผ่านไป 1 ปี เราสร้างความดีอะไรให้ตัวเอง ให้คนรอบข้าง หรือให้สังคมบ้าง หรือ เพียงแต่ถามว่าคนอื่นทำอะไรให้เราบ้าง
เวลาผ่านไปช่างรวดเร็วนัก อย่ารอให้ถึงวันที่เราไม่มีเวลาเหลือ อย่าให้เวลาผ่านไปจนถึงวันหนึ่งค่อยรู้ว่า เราทิ้งสิ่งที่มีค่าที่สุดของเราคือเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ และไม่ได้สร้างอะไรดีๆให้กับตนเอง ให้สังคม และให้โลกนี้เลย
บางครั้งก็ถืงเวลาที่เราต้องคิด และเปลี่ยนแปลง!
ความเป็นอยู่ของเราในปัจจุบันถูกกำหนดโดยความคิดและการกระทำของเราในอดีต (อยากจะบอกว่า ทุกการกระทำ ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ไม่ว่าเราคิดว่าจะมีคนอื่นรับรู้หรือไม่) และแน่นอนครับ ความคิดและการกระทำของเราในวันนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเราเช่นกัน
อนาคตเป็นของเรา เราเป็นผู้ลิขิต ดีชั่วก็อยู่ที่ตัวเรา เราเป็นผู้เลือกครับ
จริงๆการที่คนหนึ่งเป็นผู้นำได้ ก็เพราะมีผู้ตาม ใช่ไหมครับ
.. ถ้าเดินนำไปคนเดียว ไม่มีคนตาม ไม่เรียกผู้นำ แต่เป็นการเดินเดียวดาย
จริงๆของจริงๆ จริงที่สุดคือ เราได้เดินไปพร้อมกันต่างหาก
.. ผู้นำคือผู้ที่ทำให้ทีมเดินไปพร้อมกัน สู้เป้าหมายเดียวกัน เป็นตัวแทน เป็นผู้รวบรวมความคิด เป็นผู้รวมใจของทีม เป็นผู้ที่มีผู้ไว้วางใจให้ตัดสินใจ ในบางโอกาส
ลูก: “พ่อครับ พ่อครับ เขาว่าผมเป็นหมา”
ลูก: “พ่อครับ พ่อครับ เขาว่าผมเป็นควาย”
พ่อ: “แล้วลูกเป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่าล่ะ”
ลูก: “เปล่าครับ”
พ่อ: “ถ้าไม่เป็นเรื่องจริง แล้วเราไปสนใจทำไมล่ะ เดี๋ยวเขาเหนื่อยเขาก็หยุดเอง”
เราเคยสอนลูกสอนหลานของเราอย่างนี้หรือเปล่าครับ ผมก็สอนลูกของผมแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่าเราก็ไม่ต้องไปใส่ใจ แต่ถ้าเราเป็นอย่างที่เขาว่า ถ้ามีอะไรที่เราทำไม่ดี เราก็ปรับปรุงแก้ไข จริงไหมครับ
แล้วตัวเราเองล่ะ เราทำยังไงเมื่อเราโดนด่าโดนว่า บางครั้งเราก็เต้น บางครั้งเราก็โกรธในสิ่งที่เขาว่าเราใช่ไหม ถ้าเรากลับมาใช้สติ ถามตัวเองว่าที่เขาด่าเราจริงไหม ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องสนใจ ถ้าจริงเราก็ใช้โอกาสนี้แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น แค่นี้ก็จบ จริงไหมครับ
สอนคนอื่นนั้นง่าย แต่สอนตัวเองเตือนตนเองนั้นยากจริงไหมครับ จริงๆสิ่งที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรให้เรามีสติรู้ทัน …. สมาธิคือคำตอบครับ
การที่พวกเราไปบรรยายธรรมะ ไปเป็นพี่เลี้ยง ต้องเสียทั้งเวลา เสียทั้งแรงกาย แรงใจ เสียเงินค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ หากคิดเหมือนคนทั่วไป คิดความสำเร็จในกิจการหนึ่งๆเป็นตัวเงินแล้ว พวกเราก็เหมือนคนโง่ เพราะเป็นการลงทุนที่ขาดทุนโดยสิ้นเชิง
แต่หากท่านที่เคยสัมผัสธรรมะที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ท่านก็จะรู้ว่า พวกเรากำลังทำสิ่งที่มีค่าที่สุดสิ่งหนึ่งที่ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบ ธรรมะที่ช่วยแก้ไขชีวิตคน จากชั่วเป็นดี จากดีให้ดียิ่งขึ้น ธรรมะที่ช่วยแก้จากดำเป็นขาว จากคว่ำเป็นหงาย จากมืดเป็นสว่าง จากไม่รู้เป็นรู้ ถ้าท่านได้เห็นคนมากมายที่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากหลักธรรมที่ง่ายๆธรรมดาๆ ท่านจะรู้ว่าเรากำลังทำสิ่งที่ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบจริงๆ
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่ร่วมเผยแผ่ธรรมะเพื่อความสงบสุขของโลก
จริงหรือเปล่าที่เราเริ่มต้นเมื่อไหร่ก็ได้
จริงครับ ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นจริงๆ คนที่เริ่มต้นไม่ได้เพราะเขาไม่คิดจะเริ่มต้น หรือยังไม่คิดจะเริ่มต้นจริงๆ คุณพ่อของผมท่านสอบผมไว้อย่างหนึ่ง “วันหนึ่งที่สำคัญของชีวิตเรา คือวันที่เราคิดได้ วันที่เราคิดได้ว่าเราจะพาชีวิตเราไปทางไหน” ผมไม่รู้ว่าจริงไหมสำหรับท่านอื่น แต่ผมเชื่อว่าจริง
บางครั้งชีวิตเราเหมือนอะไรสักอย่างหนึ่งที่ลอยไปเรื่อยๆ ลอยไปตามกระแส แต่ไม่เคยคิดจริงๆว่าเราต้องการอะไร วันหนึ่งที่เราคิดได้ว่าเราต้องการทำอะไร วันนั้นแหละชีวิตเราสำเร็จไป 50% แล้ว และไม่ว่าเราคิดได้เมื่อไหร่ ไม่มีคำว่าสาย เหมือนฝรั่งที่เขาพูดว่า “Life always begin at 40.” หรือ “ชีวิตมักจะเริ่มต้นที่อายุ 40 ปี”
หลายคนถามว่า “นักโทษเขาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ไหม”
ผมตอบว่า “ได้”
แล้ว “นักโทษที่ต้องโทษนานๆล่ะ เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ไหม”
ผมตอบว่า “ได้”
แล้ว “นักโทษที่ทำผิดมากๆ เช่น ข่มขืน ฆ่าคนตายมาหลายคนล่ะ เริ่มต้นใหม่ได้ไหม”
ผมก็ตอบว่า “ได้”
ทุกคนสามารถผิดพลาดได้ทั้งนั้น จะมากน้อยก็ความผิดพลาด แล้วไง ชีวิตของเราต้องจมปลักอยู่กับความผิดพลาดในอดีตหรือไง ผมเคยให้ผู้ต้องขังกลุ่มที่ฆ่าคนตายนึกถึงความผิดพลาดของตัวเอง ใช่มันคือความผิดพลาด
ผมก็ถามเขาว่า “มีใครเคยฆ่าคนถึง 10 คนไหม” .. ในที่นั้นไม่มี
ผมถามเขาอีกว่า “มีใครเคยฆ่าคนถึง 100 คนไหม” .. แน่นอนไม่มี
ผมก็ถามเขาว่า “มีใครเคยฆ่าคนถึง 1000 คนไหม” .. ไม่มี ทุกคนเริ่มงง
ผมบอกเขาว่า ผมรู้จักคนๆหนึ่ง ฆ่าคนมาเกือบพันคน แต่เขาก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ทุกคนก็งง ผมก็เฉลยว่าคนที่ผมรู้จักก็คือ องคุลีมาล ท่านฆ่าคนมามากแค่ไหน แต่สุดท้ายท่านกลับใจ บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา และบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ทีนี้จริงหรือเปล่าว่าใครก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ขอเพียงแค่คิดที่จะเริ่มต้น
ผมหมายถึงอย่างนั้นจริงๆ ไม่ว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือไม่ดีก็ตามที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องดี
เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ทำให้เราเจ็บ ทำให้เรามีความทุกข์แสนสาหัส แล้วมันดีได้อย่างไร
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เรามองได้ 2 มุมเสมอ คือ ดี และ ไม่ดี หรือ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี แต่ลองคิดดูสักหน่อยครับ หากมีเรื่องไม่ดี มีเรื่องแย่ๆเกิดขึ้น แล้วเราจะคิดแย่ๆเพื่อซ้ำเติมตัวเองอีกทำไม
ที่คิดดี ไม่ใช่ว่าแกล้งคิดดี หรือคิดบวกตามแฟชั่น แต่มันดีจริงๆ ทุกเรื่องมีดีจริงๆ
ผมป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมันดีอย่างไง ก็เห็นชัดๆว่ามันไม่ดี การเกิดโรคเกิดภัยขึ้นกับตัว มันก็ทำให้กายเราเป็นทุกข์มากพออยู่แล้ว ทำไมต้องทำให้ใจเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นอีก ที่ผมเป็นโรคร้ายที่ไม่มีวันหายนี้ก็เพราะผมไม่รู้จักประมาณตน ไม่รู้จักพอดี มุ่งแต่คิดว่าจะทำงานให้มากเพื่อเร่งความสำเร็จของตน ชีวิตข้างหน้าจะได้สบาย พอผมเป็นโรค ก็ทำให้เราเริ่มคิดได้ เริ่มสร้างสมดุลใหม่ให้ชีวิต เริ่มทำงานให้พอดีกับตน รักษาสุมดุลสุขภาพกายและใจให้ดีขึ้น ทำให้ผมได้ชีวิตใหม่ ชีวิตที่สมดุลและไม่ประมาท .. อ่านเพิ่มได้ที่ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็น
นักโทษที่ต้องโทษในเรือนจำนานๆดีอย่างไร ต้องโทษก็ดีกว่าถูกประหารชีวิต ยังมีโอกาสได้คิดกลับตัว มีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ อย่างน้อยก็ยังมี … “โอกาส” และยังได้รู้ว่าการกระทำที่ผ่านมาผิดพลาด ทำอย่างไรจะไม่ให้พลาดอีก
คนเกิดมาจน เกิดมาไม่มีโอกาสดีอย่างไร เขาก็ได้ความอดทน รู้จักพึ่งตนเอง และไม่กลัวความลำบากอย่างที่หลายๆคนกลัว ผมอยากให้ท่านรู้จักขอทานท่านหนึ่งชื่อ “ไล่ตงจิ้น” เขาเกิดมาก็เป็นขอทาน ที่เป็นขอทานก็เพราะเกิดเป็นลูกขอทาน ไม่ใช่ขอทานธรรมดา แต่พ่อของเขาเป็นขอทานตาบอด แม่ปัญญาอ่อน น้องชายคนโตปัญญาอ่อน แถมยังต้องมีพี่น้องให้ต้องดูแลอีก 12 ชีวิต ขอทานท่านนี้สุดท้ายพลิกฟื้นชีวิตได้ ได้เป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องของไต้หวัน ผมอยากให้ทุกคนได้รู้จักเขามากขึ้นและอยากให้ได้อ่านหนังสือ “ไล่ตงจิ้น ลูกขอทาน ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต” หนังสือที่ประธานาธิบดีไต้หวันแนะนำให้คนไต้หวันอ่าน
ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าดีหรือไม่ดี ไม่ว่าสมหวังหรือผิดหวัง ไม่ว่ามันจะนำมาซึ่งน้ำตาหรือเสียงหัวเราะ มันเป็นเรื่องดี เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรามันหล่อหลอมความเป็นเรา อยู่ที่เราว่าจะนำประสบการณ์เหล่านั้นมาสอนใจตนและทำให้ตนพัฒนาได้หรือไม่
อันดับแรกที่เราต้องการในชีวิตคือ มีกิน มีปัจจัย 4 จริงไหมครับ
ถ้ายังไม่มีกินไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำมาหากินให้มีกินก่อน และแน่นอน การมีกินไม่ใช่มีกินแค่วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร เมื่อเรามีกินในวันนี้แล้ว เราก็ต้องการมีกินวันพรุ่งนี้ด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกว่าชีวิตเราปลอดภัยขึ้น ครับหลายท่านคงจะเริ่มคุ้น นี้ก็เป็นไปตามกฏความต้องการ 5 ขั้นตอนของมาสโลว์
ปัญหามันเริ่มตรงที่ว่า คนเรามักไม่หยุดตรงที่มีกินมีใช้ พอเริ่มมีกินมีใช้ ก็อยากรวย พอรวย ก็อยากมีอำนาจ
ปัญหาก็ยังไม่จบอยู่ดีครับ เพราะพอรวย พอมีอำนาจก็ยังไม่หยุด มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น
แล้วจริงๆชีวิตนี้ เราต้องการอะไร
ในทัศนคติของผม ผมขอตอบว่า “ความสุข” ที่หลายคนพยายามค้นหาและเพิ่มความร่ำรวย ความมีอำนาจ ก็เพราะคิดว่าระดับความสุขจะมีมากขึ้นตามระดับความร่ำรวยและอำนาจที่เพิ่มขึ้น
จริงๆแล้วมีบทพิสูจน์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ความร่ำรวยและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เช่น มีมหาเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย มีรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจมากมายถูกจำคุกและฆ่าตัวตาย มีผู้นำประเทศมากมายทั้งรวยทั้งมีอำนาจแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนได้ (อันนี้ขอละความคิดเห็นทางการเมืองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการจะชี้ว่า ถึงแม่ว่ามีเงินมีอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อบอุ่นได้ เราจะมีไปทำไม
แล้วทำไมคนยังอยากมีเงินมีอำนาจ
ถ้าให้ผมตอบก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นของดี คนที่หลงนั้นคือเขาไม่รู้หรอกว่าเขาเดินทางผิด หรือทั้งๆที่เขาเดินทางผิด เขาก็คิดว่าเป็นทางที่ถูก
คนที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะหาความสุขเจอ
ที่แท้ความสุขของเราอยู่ที่ .. ใจ ทุกคนตอบได้ แต่บางครั้งเราไม่เชื่อจริงๆใช่ไหมครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนหยุดทำมาหากินแล้วมานั่งสมาธิภาวนา เพราะอย่าลืมว่าปัจจัย 4 คือความต้องการพื้นฐาน ถ้าท้องยังไม่อิ่ม อย่าไปหวังความสุขอย่างอื่นเลย
แต่ผมหมายถึงการที่เรามีใจที่มีสติ มีความสุข และมีความพอดี …
1. ใจที่มีสติ จะช่วยหยุดหรือลดเรื่องร้ายๆเข้าสู่ชีวิตเรา และจะนำชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีขึ้น
2. ใจที่มีความสุข จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพดี และเป็นวัคซีนป้องกันหรือลดปัญหาหรือทุกข์ที่เข้ามา ถ้าเรามีความสุขมาก มีทุกข์เข้ามานิดเดียวมันก็ไม่กระทบใจ
3. ใจที่มีความพอดี ความพอดีคือพอดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ที่สำคัญคืออย่าเปรียบเทียบความพอดีของเรากับคนอื่น เพราะทันทีที่เริ่มเปรียบเทียบก็อาจจะเกิดทุกข์ได้
แล้วทำอย่าไรใจจะมีสติ มีความสุข และรู้จักพอดี … ก็ต้องทำให้ใจมีพลังหรือกำลัง
เราทำให้ใจเรามีพลังหรือกำลังด้วยการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
Tags: ค้นหาชีวิต, ความต้องการในชีวิต, ความสุข, ทำสมาธิ, นักโทษ, นั่งสมาธิ, ผู้ต้องขัง, ภูเก็ต, เดินจงกรม, เรือนจำ, ใจ
ความรู้-ประสบการณ์, นั่งสมาธิ-เรียนสมาธิ, สุขภาพ กาย&ใจ | lupthawit | Comments (0)
ถ้ามีโอกาสได้ไปคุยกับนักโทษ หรือผู้ต้องขังในเรือนจำ
คุณอยากจะบอกอะไรพวกเขา ?
คุณอยากจะพูดว่าอะไร ?
แล้วถ้าเขาทำผิดร้ายแรงล่ะ เช่น ฆ่าคนตาย ข่มขืน ยาเสพติด..
คุณอยากจะบอกอะไรพวกเขา ?
คุณอยากจะพูดว่าอะไร ?
ผมโชคดีที่มีโอกาสเข้าเรือนจำหลายครั้ง ไม่ใช่ในฐานะผู้ต้องขัง แต่ในฐานะวิทยากรที่ได้ไปบรรยายเกี่ยวกับสมาธิให้กับผู้ต้องขังฟัง ที่ผมคิดว่าตัวเองโชคดีก็เพราะมีโอกาสได้ทำบุญโดยการมอบธรรมทานให้แก่เพื่อนผู้ต้องขัง
ในครั้งหลังๆผมมีโอกาสได้เข้าไปบรรยายอีก แต่บรรยายให้กับผู้ต้องขังที่ทำผิดร้ายแรง เช่น ฆ่าคนตาย ข่มขืน ซึ่งผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะต้องอยู่เรือนจำเป็นเวลาหลายปี ลองคิดดูซิว่าเราจะคุยกับเขาเรื่องอะไรดี
สิ่งที่ผมคิดเป็นโจทย์ให้กับตัวเองมี 2 ประเด็น คือ
1. ทำอย่างไรให้เขามีกำลังใจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
2. ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาคิดที่จะเริ่มต้นใหม่ได้
เมื่อคิดถึง 2 สิ่งนี้แล้ว ผมก็มุ่งการบรรยายของผมไปใน 3 ประเด็น
1. สิ่งที่เราต้องการในชีวิตแท้จริงคืออะไร
2. อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเราล้วนเป็นเรื่องดี
3. คนเราจะเริ่มต้นใหม่เมื่อไรก็ได้ สำคัญตรงที่คิดว่าจะเริ่มต้น
เรื่องค่อนข้างยาว ผมจึงอธิบายเรื่องทั้งหมดใน 3 บทความ
ค้นหาชีวิต1 – สิ่งที่เราต้องการในชีวิตแท้จริงคืออะไร
ค้นหาชีวิต2 – อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเราล้วนเป็นเรื่องดี
ค้นหาชีวิต3 – คนเราจะเริ่มต้นใหม่เมื่อไรก็ได้ สำคัญตรงที่คิดว่าจะเริ่มต้น
ในชีวิตของเราทุกคนมีทั้งเรื่องดีๆและเรื่องไม่ดี สิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบ เหตุการณ์ที่สมหวังและเหตุการณ์ที่ผิดหวังผ่านเข้ามาเป็นปกติของคนทุกคน คงไม่มีใครที่สามารถเลือกที่จะให้เกิดแต่สิ่งดีๆกับตนและเลือกไม่ให้เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นได้ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น เราคิดและตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆอย่างไร
เมื่อมีเหตุการณ์ดีๆเกิดขึ้น ดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่แท้จริงอาจเป็นปัญหาในอนาคตก็ได้ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น ดูเหมือนไม่ดี แต่อาจดีก็ได้
ความสมหวัง การประสบความสำเร็จ มันมักจะทำให้เราดีใจ ภูมิใจ มีความสุข (อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง) แต่ความสมหวัง การประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆมันก็มักจะมาพร้อมกับความประมาท ความหลงตัวเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต่างต้องระวัง และรู้จักเตือนตน
ความผิดพลาด ปัญหา ความล้มเหลว มันมักทำให้เราท้อใจ เสียใจ มีความทุกข์ (อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่งเช่นกัน) แต่เรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้นบางครั้งก็เป็นบทเรียนที่ดี ไว้เตือนใจเราเอง ทำให้เราไม่ประมาท
จริงๆแล้วเราบอกไม่ได้ว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวคนรวยนั้นโชคดี เพราะการอยู่ในสภาวะที่มีพร้อมทุกอย่าง และหากได้รับการเลี้ยงดูไม่ถูกทาง อาจทำให้เขาไม่รู้จักดิ้นรน ประมาท และหลงลืมตน จนเกิดคำว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ดูเหมือนโชคร้าย แต่เขาก็อาจได้สิ่งที่คนรวยไม่มีโอกาสจะได้คือ ความอดทน การมีความสุขได้แม้แต่ในเรื่องเล็กน้อย เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมหลายคน สามารถที่จะพลิกชีวิตตัวเองได้และประสบความสำเร็จอย่างสูงในบั้นปลาย
เมื่อมีสิ่งที่ดี หรือไม่ดีเกิดขึ้นมาในชีวิตของเรา เราต้องมีสติรู้และเข้าใจในสภาวธรรม (หมายถึงเข้าใจตามความเป็นจริง) ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราก็สามารถดำรงชีวิตเราอย่างมีความสุขได้ไม่ยาก ความทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็เพื่อให้เรารู้ ให้เราไม่ประมาท ทุกข์มีไว้ให้รู้ ไม่ได้มีไว้ให้ทุกข์
ความทุกข์ ไม่ได้ทำให้ชีวิตตกต่ำ ชีวิตอาจจะไม่ได้แย่ลง แต่อาจดีขึ้นก็ได้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้ ก็เริ่มจากเห็นทุกข์ก่อน จริงไหม ถ้ายังไม่เห็นทุกข์ เราก็คงไม่หาทางที่อยากจะพ้นทุกข์