Category: สุขภาพ กาย&ใจ

มีปัญหาไม่สบายใจ สมาธิช่วยแก้ได้

ถาม: ป้ามีปัญหาไม่สบายใจ แต่ป้าก็ยังปฏิบัติอยู่ตามปกติ วันนี้หลังจากปฏิบัติเสร็จแล้ว ป้านั่งฟังเทปของพระอาจารย์ปราโมทย์. ก็รู้สึกใจเบาขึ้นแต่เหมือนกับมีเสียงแทรกบอกขึ้นมาว่าป้าหลอกตัวเองแต่เป็นเพียงเว็ปเดียว. ป้าอดคิดไม่ได้ว่าเพราะอะไร.

ทั้งๆที่ป้ารู้ว่าพระอาจารย์จะบอกว่าคิดก็รู้ว่าคิด แต่ป้าก็ยังมีความอยากที่จะได้รับฟังแนะนำอยู่. ป้าควรจะต้องทำอย่างไรต่อจึงจะตัดสิ่งนี้ไปได้ค่ะ
ขอบคุณค่ะ
(JJ 23/9/2558)

ตอบ: การวางเรื่องทุกข์ง่ายนิดเดียวจริงมั๊ยครับ คือ หยุดคิด ก็หยุดทุกข์ แต่มันยากตรงที่ทำไม่ได้ ยิ่งเรื่องนั้น เป็นเรื่องของเรา หรือ ของของเรา ก็ยิ่งวางได้ยาก หยุดคิดได้ยาก

ในการแก้ปัญหา แก้ได้ใน 2 ระดับ ครับ
1. ใช้อุบายแก้ปัญหา คือ ใช้อุบายให้ใจเราไปคิดอย่างอื่น ใช้อุบายในการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมื่อใจเรายังไม่แข็งแรงพอ
2. แก้ในระดับใจ คือ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ มีความเข้าใจ ปัญหานั้นก็จะทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปลง หรือถอดใจ แต่เพราะเข้าใจ

ระดับแรก เราต้องใช้อุบายในการแก้ปัญหาครับ คือ เราต้องรู้ว่าใจของเราต้องกินอาหารตลอดเวลา
* อาหารของใจคือ อารมณ์
* ถ้าใจเรากินอารมณ์ดี ใจก็จะดี
* ถ้าใจเรากินอารมณ์แย่ๆ ใจก็จะแย่

เมื่อเราทุกข์ อารมณ์แย่ๆมักจะถามโถมเข้าสู่ใจ แบบไม่ต้องคิดว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันจะเข้าสู่ใจเราโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติของมัน เราจึงต้องให้อุบายในการหยุดมัน ถ้าเป็นคนทั่วๆไป ก็เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนไปฟังเพลงดีๆสบายๆ หากิจกรรมทำ มันก็จะค่อยๆลืมอารมณ์เดิมๆ

สำหรับผู้ปฏิบัติ เราก็ใช้พุทโธ บริกรรมพุทโธ ซึ่งเป็นอารมณ์ดีๆเข้าไปเจือจางอามรมณ์ที่ไม่ดี  เอาอารมณ์ดีๆไปล้างอารมณ์ที่ไม่ดี การปฏิบัติอาจไม่ได้ผลในการทำครั้งเดียว แต่โดยปกติ ถ้าปัญหาไม่หนักเกินไป ทำไป 2-3 ครั้งก็จะดีขี้น ตรงนี้ต้องระลึกไว้ว่า “การที่เราล้างมือ แล้วมือยังไม่สะอาด ไม่ได้หมายคามว่า มันไม่สะอาดขึ้น” คือ มันค่อยๆดีขึ้น อาจจะไม่ได้ดีขึ้นแบบเห็นผลในครั้งเดียว

อีกอย่าง หากเรามีปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุครับ เราต้องรู้ว่า บางปัญหาเป็นของเรา เราต้องแก้ บางปัญหาไม่ใช่ของเรา ต่อให้เราไปแก้ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องอุเบกขา วางเฉย วางเฉยไม่ช่เพิกเฉย วางเฉยด้วยความเข้าใจ

ส่วนอีกระดับ ระดับ 2 คือการทำงานระดับใจ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ เราจะมีปัญญาพอที่จะยกทุกข์ออกจากใจเราเองโดยอัตโนมัติครับ ด้วยความเข้าใจนี่แหละครับ ตรงนี้ไม่ต้องอธิบายมากครับ เพราะจะเข้าใจเองเมื่อทำได้ ทำได้เพราะเกิดปัญญา สมาธิทำให้เกิดปัญญาก็ตรงนี้เลยครับ

เป็นกำลังใจนะครับ

ทำสมาธิ ทำไมยังไม่เห็นผล

วันนี้มีอีกคำถามหนึ่งมาไกลจาก USA ครับ

ถาม: เป็นคนที่เคยถามอาจารย์ว่านานแค่ไหนที่มากที่สุดกว่าจะได้สมาธิ อาจารย์ตอบว่า 3 เดือน แต่ตัวเองปฏิบัติมา 8 เดือนยังไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ ขอสารภาพว่าแม้แต่ฌาน ญาณอะไรก็ไม่เคยสัมผัส แต่ไม่ท้อนะคะ ยังคงปฏิบัติอยู่  อาจารย์พอจะชี้แนะอะไรได้บ้างคะในcaseนี้

ตอบ: สาธุกับการปฏิบัติ และการตั้งใจอันดีด้วยครับ มี Case แนะนำเป็น Case ของตังผมเองเลยครับ ผมก็รู้สึกเช่นกันครับ ปฏิบัติทุกวันก็เหมือนเดิมทุกวัน เหมือนไม่ได้อะไรเลย หรือได้ก็นิดๆหน่อยๆ จริงๆแล้วเราได้ แต่จิตเราไม่ละเอียดพอที่จะเห็นมันครับ

ปกติแรกๆ (พอปฏิบัติผ่านไปสัก 3-4 เดือน) ที่เรารู้สึกได้ คือ อารมณ์เราจะค่อยๆดีขึ้น มั่นใจขึ้น มั่นคงขึ้น มีความสุขจากภายในมากขึ้น ความกังวลลดลง นอนหลับง่ายขึ้น มีพลัง เพลียน้อยลง

ผมก็ได้ประมาณนี้มาตลอด ค่อยๆได้ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ปฏิบัติ ผมไม่เก่งครับ ก้าวหน้าช้า แต่อึด ไม่เคยหยุด ไม่เคยเลิก ประมาณ ปีที่ 4 ผมจึงค่อยเห็นผลจากการทำสมาธิมากขึ้น รู้สึกสัมผัสได้มากขึ้น เหมือนจิตเราละเอียดมากขึ้นพอที่จะเห็นตัวเรา เห็นว่า “ปัญญา” เกิดจากสมาธิได้จริงชัดขึ้น รู้วิธีการเคลียร์ใจ เพื่อช่วยในการทำงานได้ดีขึ้น ที่ทำได้เพราะทำสมาธิชำนาญขึ้นครับ

สรุปเบื้องต้น
ตอนนี้พี่ก็ได้ผลจากสมาธิครับ ไม่ใช่ไม่ได้ แต่บางครั้งเราได้ทีละนิด โดยที่เราไม่รู้สึก ลองดูเด็กที่เขาหัดอ่านหนังสือ ก็ดูเหมือนไม่ได้อะไร กว่าจะอ่านได้แต่ละตัวอักษร ยากลำบาก ดูเหมือนไม่ก้าวหน้า แต่พอผ่านไปสักปีกว่าๆ เขาอ่านประโยคง่ายๆได้หมดแล้ว สมาธิก็เป็นเช่นกัน

อีกประการหนึ่งที่อยากให้ระลึกไว้คือ การที่เราล้างมือแล้วมือไม่สะอาด ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สะอาดขึ้น ใจเราที่เปรอะเปื้อนมาทั้งวัน หรือบางครั้งเจอปัญหามาเยอะ ไม่ใช่จะล้างครั้งเดียวแล้วใส ต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่ล้าง มันจะไม่ใสเลยแน่นอนครับ และแถมจะสะสมความสกปรกมากยิ่งขึ้นด้วย

อย่าเร่งเกินไปในการปฏิบัติ เราต้องรู้ธรรมชาติของมัน เช่น การปลูกต้นมะม่วง เราต้องรู้ว่ากว่ามันจะได้ผล อาจใช้เวลา 4-5 ปี แต่บางครั้งพอปลูกผ่านไป 6 เดือน 7 เดือน เราก็เผ้าดูว่า เมื่อไหร่มันจะออกผลสักที การที่ใจร้อนเฝ้ารอผลของมันตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมมันไม่ออกผลสักที ทำไมเราปลูกแล้วไม่ได้ผล เพราะมันยังไม่ถึงเวลาครับ  การทำสมาธิก็เช่นเดียวกันครับ หน้าที่เราคือหน้าที่ทำครับ หน้าที่ที่ใจเติบโต ก็เป็นหน้าที่ของใจ

ค่อยๆทำ ใจเย็นๆ ทำให้เป็นธรรมชาติ เราปลูกอะไรต้องได้ผลอย่างนั้น ที่สำคัญ เช็คตัวเอง ทำให้ถูกวิธี ไม่ตึง ไม่หย่อน จนเกินไปด้วยครับ

เดินจงกรม จำเป็นหรือไม่

วันนี้ มีคำถามเรื่อง การเดินจงกรม จาก จ.ระนอง เข้ามาครับ น่าสนใจ จึงเอามาแบ่งปันครับ..

ถาม: @ อ.เอิง..ตื่นช่วง ตีสี่ครึ่งถึงห้าครึ่ง และนั่งทุกวันค่ะ…แต่ไม่ได้เดินจงกรมค่ะ…เป็นไรไม๊ค่ะ (นั่งครึ่งชม.)

ตอบ: – ถ้าไม่สะดวกเดินตอนเช้า เดินตอนอื่นก็ได้ครับ
– เดินจงกรมควรจะต้องเดิน ได้ประโยชน์มากครับ
– เดินจงกรม ได้สมาธิตื้น นั่งสมาธิ ได้สมาธิลึก
– 2 ส่วนนี้จะทำงานประสานกัน ช่วยเสริมกัน แยกกันคนละหน้าที่
– เดินจงกรม ได้สติ ช่วยในการทำงาน
– นั่งสมาธิ ได้ความลึกซึ้ง เกิดความสุข เป็นแรงขับดันให้ปฏิบัติดียิ่งขึ้น
– ไม่ควรขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนทานข้าวต้องครบ 5 หมู่ ครับ

ถาม: สาธุ สาธุ สาธุ…จะเริ่มปฏิบัติเดินจงกรมช่วงก่อนนอนได้ไม๊ค่ะ

 ตอบ: – ผมก็ใช้ช่วงก่อนนอนเป็นช่วงกรองอารมณ์ครับ (เดินจงกรม)
– ตื่นมาตอนเช้าอาจไม่ต้องเดินจงกรมก่อนก็ได้ เพราะอารมณ์ถูกเคลียร์มามากแล้ว
– แต่ปฏิบัติช่วงอื่น ถ้าเดินจงกรมก่อน จะได้ผลดีมากยิ่งขึ้นครับ
– เดินจงกรม คือ วิธีการกรองอารมณ์ที่ดีมาก หากมีปัญหาในชีวิตประจำวัน (มีหรือไม่มีก็ได้) เดินจงกรมช่วยได้มากที่สุดเลย

วันนี้ คุณเดินจงกรม และ นั่งสมาธิ แล้วหรือยัง

ถามตัวเองทุกวันนะครับ !
ต่อให้เรียนมากแค่ไหนก็แค่รู้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ไปไม่ถึง
ต่อให้อ่านแผนที่กี่ปีก็ได้แค่รู้ ไม่มีทางไปถึงจุดหมายถ้าไม่เริ่มเดินทาง

IMG_430113071605

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 6: เริ่มทำสมาธิ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

ชีวิตจะดีขึ้น ต้องเริ่มทำ
หนทางหมื่นลี้เริ่มต้นจากก้าวแรกฉันใด อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีใจที่แข็งแรง ใจที่มีกำลัง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการหัดทำสมาธิฉันนั้น เมื่อท่านอ่านมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าท่านพร้อมแล้วที่จะ “เริ่มทำสมาธิ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”

การทำสมาธินั้นสามารถทำได้ในแทบทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แม้กระทั่งตอนนอนเราก็สามารถฝึกทำสมาธิได้ แต่ปกติเราจะยังไม่ค่อยฝึกสมาธิในอิริยาบถนี้นะครับ เพราะมันจะหลับไปเสียก่อน การฝึกปฏิบัติสมาธิที่เราทำกันมี 2 อิริยาบถหลัก คือ การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ

การทำสมาธิ คือ การทำให้ใจนิ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่ในอิริยาบถไหนที่ทำให้ใจเรานิ่งได้ ก็สามารถเป็นสมาธิได้ แม้ว่าขณะนั้นร่างกายไม่นิ่ง เช่น การเดินจงกรม แต่เราพยายามทำให้ใจนิ่งได้ ก็เรียกว่าทำสมาธิ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวหรือมีอะไรมากระทบมากจนเกินไป (ในที่นี้หมายถึงทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆมากระทบ) เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ยากขึ้น

การฝึกปฏิบัติสมาธิ ควรทำทั้ง การเดินจงกรม และ การนั่งสมาธิ
การเดินจงกรม เป็นการช่วยฝึกการลดระดับอารมณ์ หรือ เคลียร์อารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว มีประโยชน์มากสำหรับคนฝึกสมาธิใหม่ๆ เพราะช่วยให้อารมณ์หรือความคิดที่มีอยู่มากมายในใจเราลดลงไป ทำให้ใจเป็นสมาธิได้เร็วขึ้นมาก และจะทำให้เรานั่งสมาธิได้ดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน กลับกัน..บางคนหากไม่ได้เดินจงกรมแล้วมานั่งสมาธิ ก็อาจจะทำให้นั่งสมาธิไม่ได้ ใจรู้สึกอึดอัด เพราะยังมีเรื่องราวมากมายที่อยู่ในใจไม่สามารถเคลียร์ได้

การเดินจงกรม ยังเป็นการฝึกสมาธิตื้น หรือ เรียกได้ว่าเป็นสมาธิพื้นฐานที่เราใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน คนที่ฝึกเดินจงกรมมากๆ จะทำให้สมาธิในการทำงานดีขึ้น มีสติขึ้น การวางแผนการทำงานดีขึ้น การทำงานในภาพรวมดีขึ้นทั้งหมด

การนั่งสมาธิ เป็นการฝึกให้ใจสงบมากขึ้น ทำให้เกิดสมาธิที่ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งหากเดินจงกรมมาก่อนนั่งสมาธิ จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิง่ายขึ้นมาก ง่ายตรงที่อารมณ์ในใจเราไม่ฟุ้งมาก ทำให้ใจสงบเป็นสมาธิได้ง่าย และเมื่อฝึกนั่งสมาธิไปชำนาญในระดับหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้เกิดความสุขในการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เป็นกำลังใจในการฝึกสมาธิต่อไปมากขึ้น

เดินจงกรม และ นั่งสมาธิ ต้องทำทั้งคู่
การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่กัน ถ้าให้ผมเปรียบเทียบให้ชัดเจนขึ้น เราลองนึกภาพการใช้เครื่องกรองน้ำมากรองน้ำสำหรับดื่ม ปกติการกรองน้ำในบ้านของเรา เราก็มักจะมีการกรองใน 2 ระดับ คือ เมื่อน้ำประปามาถึงหน้าบ้านเราแล้ว เราก็ต่อท่อมาเข้าเครื่องกรองหยาบก่อน เพื่อกรองน้ำให้สะอาดในระดับแรก เพื่อให้ใช้ในบ้านได้ในทุกๆจุด หลังจากนั้นจุดไหนที่เราต้องการน้ำสำหรับดื่ม เราจึงเอาเครื่องกรองน้ำดื่มไปตั้งที่จุดนั้น เราก็จะได้น้ำสำหรับดื่ม

ถ้าเราเอาเครื่องกรองน้ำสำหรับดื่มมากรองน้ำประปาตั้งแต่ต้นจะเกิดอะไรขึ้น ผลก็คือ น้ำประปาที่ไม่ได้ผ่านการกรองชั้นต้นเลย อาจมีสกปรก หรือ ตะกอนแฝงอยู่มาก จะทำให้เครื่องกรองน้ำดื่มของเราตันเร็ว หรือทำให้เครื่องกรองน้ำดื่มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

การเดินจงกรม ก็เหมือน เครื่องกรองหยาบ
การนั่งสมาธิ ก็เหมือน เครื่องกรองละเอียด
เราจำเป็นต้องใช้เครื่องกรองหยาบ และเครื่องกรองละเอียดควบคู่กัน การกรองอารมณ์ของเราจึงจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น เหมือนกับการกรองน้ำที่ต้องใช้ทั้งเครื่งกรองหยาบกรองน้ำตอนเข้าบ้าน และเครื่องกรองละเอียดมากรองน้ำสำหรับดื่มอีกทีครับ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 5: ทำสมาธิ ทำเท่าไหร่จึงได้ผล

ทำสมาธินานเท่าไหร่จึงได้ผล
“ทำสมาธิ ทำเท่าไหร่จึงจะได้ผล” เป็นอีกคำถามที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่หัดทำสมาธิ แล้วอยากให้ได้ผลเร็วๆ จริงๆแล้วคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะการเกิดผลของการทำสมาธิขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน

ถ้าจะเปรียบเทียบกับการออกกำลังกาย ก็เหมือนกับมีคนถามเราว่า “ออกกำลังกายมากเท่าไหร่ร่างกายเราจะแข็งแรง” ตอบยากใช่ไหมครับ แต่เราก็พอจะรู้คร่าวๆได้ว่า หากเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัก 3-4 เดือน เราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายเราดีขึ้น แข็งแรงขึ้น จากประสบการณ์ของผม โดยทั่วๆไปแล้ว คนที่มาฝึกนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มรู้สึกได้เช่นเดียวกันว่าฝึกสมาธิแล้วได้ผล

ได้ผลจากการทำสมาธิ วัดได้อย่างไร
คำว่า “ได้ผล” นั้นวัดได้อย่างไร ขอเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายอีกนะครับ เรารู้หรือวัดได้อย่างไรว่า ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นแล้วหลังจากที่เราออกกำลังกายไประยะหนึ่ง มันวัดได้ยากแต่ก็พอสังเกตได้ เช่น เมื่อเราออกกำลังกายจนร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว เวลาฝนตก อากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเคยเป็นหวัด แต่หลังจากออกกำลังกายก็ไม่เป็นหวัดเหมือนเคยเป็น หรือ เราสามารถยกน้ำหนักที่หนักขึ้นได้ นี่ก็เป็นการบอกว่าร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น ใจที่แข็งแรงขึ้น อาจไม่สามารถวัดได้ชัดเจน แต่ก็พอสังเกตได้ว่าใจเรามีกำลังขึ้น เช่น เรามีความสุขมากขึ้น มีสติมากขึ้น โมโหน้อยลง โกรธยากขึ้น โกรธน้อยลง ไม่ซึมเศร้าเหมือนเดิม นอนหลับง่ายขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นขึ้น นี่เป็นอาการที่บอกว่าใจเรามีกำลังมากขึ้นแล้ว

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 4: ทำสมาธิ เท่ากับ ออกกำลังใจ

การทำสมาธิคือการสะสมพลังจิต
การทำสมาธิ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ที่แท้คือ การออกกำลังใจ เมื่อเราออกกำลังกาย เราก็จะได้กำลังกาย ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเมื่อเราออกกำลังใจ เราก็จะได้กำลังใจ หรือ พลังจิต ทำให้เราจิตใจแข็งแรง

การออกกำลังกาย คือ การขยับ ยิ่งขยับมากยิ่งเท่ากับออกกำลังกายมาก แต่ออกกำลังใจนั้นต่างกัน การออกกำลังใจคือ การทำให้ใจนิ่ง ยิ่งทำให้ใจนิ่งได้มาก ใจยิ่งสะสมกำลังมาก

การออกกำลังกายนั้น ออกกำลังกายครั้งเดียวคงมิอาจทำให้ร่างการแข็งแรงได้ฉันใด การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม หากทำแค่ครั้งเดียว ก็คงมิอาจทำให้ใจแข็งแรงได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นการทำสมาธิให้ได้ผลมีเคล็ดลับง่ายอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับการที่เราอยากให้ร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน

การออกกำลังกาย มิใช่ว่าเราจะโหมออกกำลังกายไม่หยุดเลยทั้งวันทั้งคืนแล้วร่างกายจะแข็งแรง เพราะหากเราทำอย่างนั้น แทนที่ร่างกายเราจะแข็งแรง ร่างกายของเรากลับยิ่งแย่ การนั่งสมาธิออกกำลังใจก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเราอยากให้ใจสงบ เราอยากให้ใจเราแข็งแรง แล้วจะมาโหมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน สามวันสามคืน แล้วจิตใจเราจะแข็งแรงหรือมีกำลังมาก การทำอะไรก็ตามก็ทำให้สมดุลทำให้พอดีการทำสมาธิก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการทำสมาธิให้ได้ผลคือ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรีบทำทีเดียวเยอะๆ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆทำ แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ

สุดท้ายที่อยากบอกในเบื้องต้นนี้คือ.. ทุกคนต่างทราบว่า การออกกำลังกายนั้น ถึงแม้ว่าจะดีแค่ไหน หากเราไม่เคยออกกำลังกายเลย มาออกกำลังกายครั้งแรก เราก็จะปวด จะเมื่อย จะล้า จะท้อ ทุกๆอย่างจะมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เหมือนกันครับ หากเราไม่เคยนั่งสมาธิ แล้วมานั่งสมาธิครั้งแรก เราก็จะปวด จะเมื่อย จะล้า จะท้อ และใจที่เขาบอกว่าให้ทำให้มันนิ่ง มันกลับยิ่งดิ้น เอาไม่อยู่ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆที่เราฝึกทำสมาธิ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 3: ทำสมาธิเพื่อสะสมพลังจิต

วัตถุประสงค์การทำสมาธิ คือ การสะสมพลังจิต
การทำสมาธิมีวัตถุประสงค์ คือ การสะสมพลังจิต เป็นสิ่งที่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร เน้นย้ำให้นักศึกษาในหลักสูตรครูสมาธิทุกคนได้รู้ และเข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆของการทำสมาธิตั้งแต่การเริ่มเรียนในบทแรก

เมื่อก่อนเราอาจจะคิด เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุข แต่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านได้บรรยายให้กับนักศึกษาครูสมาธิทุกคนได้รู้ว่า เมื่อเราทำสมาธิ สิ่งที่เราจะได้คือ พลังจิต แล้วพลังจิตนี้แหละที่เป็นส่วนที่ทำให้เกิด ความสุข ความสงบ เกิดปัญญา และทำให้ใจเรามีกำลังมากพอที่จะทำอะไรหลายอย่างได้

พลังจิตที่แท้คือ กำลังใจ
หลายท่านพอเห็นคำว่า “พลังจิต” ก็อาจตกใจ คิดว่าเป็นสิ่งพิเศษหรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ จริงๆแล้ว “พลัง” ก็คือ กำลัง ส่วน “จิต” ก็คือใจของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นพลัวจิตก็คือกำลังของใจของเรา ผู้ที่มีพลังจิตก็คือผู้ที่มีใจที่มีกำลัง

ถ้าเราเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหาร เราจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น การที่เรารับประทานอาหาร สิ่งที่เราต้องการคือ สารอาหาร เช่น โปรตีน วิตตามิน แร่ธาตุ ที่อยู่ในอาหารนั้นเพื่อมาหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา เราคงไม่ได้รับประทานอาหารเพราะต้องการความอร่อย ความอร่อยคือผลพลอยได้เท่านั้น เราเปรียบความอร่อยเหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำสมาธิ เปรียบสารอาหารเหมือนกับพลังจิตซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆจากการทำสมาธิ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 2: ทำไมสมาธิช่วยได้

เพราะอะไรสมาธิ จึงช่วยแก้ปัญหาได้
สมาธิเหมือนยาวิเศษที่แก้ปัญหาใจสารพัดปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็น เครียด นอนไม่หลับ มีทุกข์ในใจ ซึมเศร้า ท้อแท้ กังวล โกรธ หรืออีกหลายๆปัญหาใจได้อย่างได้ผล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ปัญหาหลายปัญหาที่เราประสพ ไม่ใช่เราไม่รู้วิธีการแก้ปัญหา บางครั้งเรารู้วิธีการแก้ปัญหาแต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้ เช่น หากถามทุกคนว่า รู้มั๊ยว่า เมื่อเราทุกข์ใจ จะทำอย่างไรให้หายทุกข์ หรือ เมื่อเราเครียด จะทำอย่างไรให้หายเครียด หลายๆคนรู้คำตอบอยู่แล้ว และตอบได้ทันทีว่า “ง่ายนิดเดียวคือ แค่หยุดคิด”

แค่หยุดคิดความทุกข์ก็เริ่มจาง แค่หยุดคิดความเครียดก็เริ่มหาย และทุกๆคนก็ไม่อยากทุกข์ไม่อยากเครียด แล้วทำไมเวลาทุกข์เวลาเครียด เราไม่หยุดคิดเราจะได้มีความสุข ก็ตอบได้ง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินว่า “ก็มันทำไม่ได้ เราหยุดคิดไม่ได้”

เราหยุดคิดไม่ได้ เพราะใจไม่แข็งแรงพอ
เราหยุดคิดไม่ได้หากใจเราไม่มีกำลัง เมื่อใจเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามตัวเราเองไม่ให้คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจตัวเราไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจของเราไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดหรือไม่จำเป็นต้องพูดได้ ตรงนี้หากเปรียบเทียบ ก็คงเปรียบได้กับคนแบกกระสอบข้าวสาร ถามว่าเรารู้วิธีที่จะแบกกระสอบข้าวสารหนัก 100 กก.ไหม เราก็ตอบว่า “รู้” แต่ให้เราไปแบกจริงๆทำได้ไหม เราก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกายของเราไม่แข็งแรงพอ หรือกายเราไม่มีกำลังมากพอ

ฝึกสมาธิเพื่อให้ใจแข็งแรง เมื่อใจแข็งแรงก็แก้ปัญหาได้
การนั่งสมาธิ การเดินจงรม เป็นวิธีการที่เราใช้ในการฝึกใจ ฝึกใจของเราให้ใจเราค่อยๆมีกำลัง เมื่อใจเรามีกำลัง ก็เปรียบเหมือนใจเราแข็งแรง เราก็จะแก้ปัญหาต่างๆของใจได้โดยง่าย เปรียบเหมือนคนที่ออกำลังกายแล้วแข็งแรงขึ้นพอที่จะยกของหนักๆได้ ซึ่งเดิมก่อนออกกำลังกายแล้วเขาไม่มีกำลังพอที่จะยกได้  การที่ใจของเรามีกำลังจะทำให้เรามีสติ มีความรอบคอบ มีปัญญา หยุดคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ ปัญหาหลายๆปัญหาจึงสามารถแก้ได้โดยง่าย

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 1: ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ แก้ได้ด้วยสมาธิ

แก้ปัญหา ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ ด้วยสมาธิ
พอรู้ว่าผมปฏิบัติสมาธิ ก็มักจะมีเพื่อนๆหลายคนมาปรึกษา และขอให้แนะนำวิธีการนั่งสมาธิ ผมกก็มักจะเริ่มต้นด้วยการคุยกันก่อนว่าต้องการนั่งสมาธิเพราะอะไร ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ รู้สึกมีความทุกข์ ไม่มีความสุข เครียด นอนไม่หลับ เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆที่หลายคนต้องการสมาธิมาใช้เป็นวิธีการในการแก้ปัญหา

ผมมักจะไม่เริ่มต้นด้วยการบอกวิธีปฏิบัติ เช่น ไม่ได้บอกว่านั่งสมาธิทำอย่างไร เพราะหากบอกไปแค่นั้น เขาไปทำก็มักจะไม่ได้ผล ที่ไม่ได้ผลก็เพราะ เขาไม่ได้รู้หลักการจริงๆของการที่ใช้สมาธิมาช่วยในการบำบัด หรือการทำให้ใจเราดีขึ้น

คนที่มีความทุกข์ เครียดมากๆ อยู่ดีๆให้ไปนั่งสมาธิ มักจะไม่ได้ผล
ด้วยประสบการณ์ของผมแล้ว.. ให้คนที่ทุกข์มากๆเครียดมากๆไปนั่งสมาธิ ทำไม่ได้หรอกครับ หรืออาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ลองนึกภาพคนที่มีความทุกข์มากๆ อยู่ๆจะให้เขามานั่งสงบๆเลย เขาทำไม่ได้ครับ ใจเขากระเจิง ยิ่งกดให้ใจนิ่ง ใจยิ่งดิ้น

ถ้าผมเปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับการที่เราเอาเครื่องกรองน้ำแบบดีๆที่เขาใช้กรองน้ำสำหรับดื่มมากรองน้ำประปา น้ำประปาในบ้านเรา ส่วนมากน้ำประปาต้องผ่านระบบท่อที่เก่าๆหลายสิบปี มีการแตกการรั่ว น้ำที่มาถึงบ้านเราก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร พอมากรองด้วยเครื่องกรองน้ำแบบดีๆเพื่อกรองน้ำรับประทาน กรองไปไม่เท่าไหร่เครื่องกรองน้ำก็พัง เพราะไส้กรองมันตันเร็ว

สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล
อีกเหตุผลที่เราต้องคุยกันก่อนมาแก้ปัญหาด้วยสมาธิก็เพราะ สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล ผู้ที่จะมาฝึกสมาธิจึงควรต้องเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของการฝึกปฏิบัติก่อน เขาจึงจะมีความตั้งใจฝึกสมาธิจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ได้ผลได้

WordPress Themes