Posts tagged: นั่งสมาธิ

ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้

ดี-ชั่ว รู้หมด แต่อดไม่ได้

ดี-ชั่ว รู้หมด แต่อดไม่ได้
รู้ถูก-รู้ผิด แต่จิตถลำ
รู้ทุกข์-รู้โทษ แต่ถูกครอบงำ
รู้นรก-รู้สวรรค์ แต่ยังฝืนใจ

ถ้าไม่มีพลังจิต หรือกำลังใจเพียงพอ ยากที่จะแก้ปัญหาได้
ต่อให้เป็นคนที่ฝึกจิตมา ก็ใช่ว่าจะชนะกิเลส หรือแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
เหมือนศิลาทับหญ้า เมื่อไหร่ศิลาอ่อนกำลัง หญ้าก็เจริญงอกงาม

หน้าที่ของเราคือฝึกจิตต่อไป เร่งความเพียร
วันนี้ คุณนั่งสมาธิหรือยัง !!

นั่งสมาธิ เพื่อสะสมพลังจิต (กำลังใจ)

หากถามว่า “นั่งสมาธิเพื่ออะไร” หลายๆคนมักตอบว่า เพื่อความสงบ เพื่อความสุข เพื่อให้สบายใจ
จริงๆแล้วคำตอบทั้งหลายเป็นผลที่เกิดจากสิ่งที่ได้จากการนั่งสมาธิ คือ พลังจิต หรือ กำลังใจ ของเรานั่นเอง

พลังจิต หรือ กำลังใจของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราอาจไม่รู้จักมันดีพอ หรือยังไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอ หลายๆเรื่องเป็นสิ่งที่เรารู้ แต่ถ้าใจของเราไม่มีกำลังพอ เราก็ทำไม่ได้ หรือไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ทุกคนต่างรู้ว่าอะไรทุกข์ อะไรสุข ต่างก็รู้ดี แต่เคยถามตัวเองไหมครับว่า ทำไมเราไม่สามารถจะโยนทุกข์ทิ้งไปแล้วเก็บแต่สุขเอาไว้  ทุกคนต่างรู้ว่าศีล 5 ข้อมีอะไรบ้าง ท่องได้แม่น และรู้ว่าถ้าทำได้ก็ดี แต่เราก็มักจะทำกันไม่ได้..เพราะอะไร

คำตอบคือ ใจของเราไม่มีกำลังพอ เราอาจจะรู้ รู้ดีด้วย แต่หากใจเราไม่มีกำลังพอ เราก็ไม่สามารถโยนทุกข์ทิ้งไปจากใจได้ หรือ เราอาจไม่สามารถห้ามใจเราทำสิ่งไม่ดีบางอย่างได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เราไม่รู้ แต่เป็นเพราะใจไม่มีกำลัง

การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม เป็นการเพิ่มพลังจิต หรือกำลังใจของเรา เมื่อเรามีพลังจิต เราก็จะมีสติ รอบคอบขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น มีเมตตามากขึ้น เมื่อใจมีกำลังพอ เราก็สามารถหยุดความทุกข์ได้ หยุดการกระทำที่ไม่ดีได้ และมีความสุขเพิ่มขึ้น

ถ้าจะเปรียบเทียบ เราอาจจะดูคนยกกระสอบข้าวสาร เรารู้วิธียก ว่ายกอย่างไร แต่ถ้ากำลังของร่างกายไม่พอ เราก็ยกไม่ได้ เรื่อของใจก็เหมือนกันครับ

นั่งสมาธิ เริ่มต้นวันนี้

**   วันนี้ คุณนั่งสมาธิ แล้วหรือยัง   **
** กว่า 1,000 วัน จากวันนั้นถึงวันนี้ **

วันนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ผมตื่นมานั่งสมาธิตอนหัวรุ่งช่วง 04.00 – 05.00 น. ด้วยการชักชวนของ อ.ชิราวุธ กรจรุงเกียรติ ในการบรรยายเรื่องอัตถสาสมาธิ (การทำสมาธิในช่วงโอกาสทอง) ผมได้ตั้งสัจจะวาจาร่วมกับเพื่อนๆในห้องเรียนว่าจะตื่นมาปฎิบัติร่วมกัน ด้วยความไม่มั่นใจและไม่อยากผิดวาจา จึงขอตั้งสัจจะเพียงวันเดียวก่อน เพราะคิดว่าการตื่นเช้าสำหรับเรานั้นเป็นไปไม่ได้

จากวันเดียว ถึงวันนี้มากกว่า 1,000 วันแล้วที่ผมได้นั่งสมาธิทุกวัน น้อยบ้าง มากบ้าง ขยันบ้าง ขี้เกียจบ้าง แต่ไม่เคยขาด เพราะรู้แล้วว่าสมาธิมีประโยชน์ขนาดไหน

เมื่อวานมีโอกาสได้บรรยายเรื่อง อัตถสาสมาธิ และมีนักศึกษาจำนวนมากตั้งสัจจะวาจาว่าจะตื่นเช้ามาทำสมาธิด้วยกัน ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป และขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยครับ

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาบุญกับ พระอาจารย์ ครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่ทำให้พวกเราพบแสงสว่างดังเช่นวันนี้

นั่งสมาธิ วัดธรรมมงคล ในการอบรมอาจาริยสา รุ่น 7/1

นั่งสมาธิ วัดธรรมมงคล ระหว่างการอบรมอาจาริยสาสมาธิ รุ่น 7/1

ค้นหาชีวิต1 – สิ่งที่เราต้องการในชีวิตแท้จริงคืออะไร

อันดับแรกที่เราต้องการในชีวิตคือ มีกิน มีปัจจัย 4 จริงไหมครับ
ถ้ายังไม่มีกินไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำมาหากินให้มีกินก่อน และแน่นอน การมีกินไม่ใช่มีกินแค่วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร เมื่อเรามีกินในวันนี้แล้ว เราก็ต้องการมีกินวันพรุ่งนี้ด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกว่าชีวิตเราปลอดภัยขึ้น ครับหลายท่านคงจะเริ่มคุ้น นี้ก็เป็นไปตามกฏความต้องการ 5 ขั้นตอนของมาสโลว์

ปัญหามันเริ่มตรงที่ว่า คนเรามักไม่หยุดตรงที่มีกินมีใช้ พอเริ่มมีกินมีใช้ ก็อยากรวย พอรวย ก็อยากมีอำนาจ

ปัญหาก็ยังไม่จบอยู่ดีครับ เพราะพอรวย พอมีอำนาจก็ยังไม่หยุด มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น

แล้วจริงๆชีวิตนี้ เราต้องการอะไร
ในทัศนคติของผม ผมขอตอบว่า “ความสุข” ที่หลายคนพยายามค้นหาและเพิ่มความร่ำรวย ความมีอำนาจ ก็เพราะคิดว่าระดับความสุขจะมีมากขึ้นตามระดับความร่ำรวยและอำนาจที่เพิ่มขึ้น

จริงๆแล้วมีบทพิสูจน์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ความร่ำรวยและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เช่น มีมหาเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย มีรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจมากมายถูกจำคุกและฆ่าตัวตาย มีผู้นำประเทศมากมายทั้งรวยทั้งมีอำนาจแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนได้ (อันนี้ขอละความคิดเห็นทางการเมืองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการจะชี้ว่า ถึงแม่ว่ามีเงินมีอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อบอุ่นได้ เราจะมีไปทำไม

แล้วทำไมคนยังอยากมีเงินมีอำนาจ
ถ้าให้ผมตอบก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นของดี คนที่หลงนั้นคือเขาไม่รู้หรอกว่าเขาเดินทางผิด หรือทั้งๆที่เขาเดินทางผิด เขาก็คิดว่าเป็นทางที่ถูก

คนที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะหาความสุขเจอ
ที่แท้ความสุขของเราอยู่ที่ .. ใจ ทุกคนตอบได้ แต่บางครั้งเราไม่เชื่อจริงๆใช่ไหมครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนหยุดทำมาหากินแล้วมานั่งสมาธิภาวนา เพราะอย่าลืมว่าปัจจัย 4 คือความต้องการพื้นฐาน ถ้าท้องยังไม่อิ่ม อย่าไปหวังความสุขอย่างอื่นเลย

แต่ผมหมายถึงการที่เรามีใจที่มีสติ มีความสุข และมีความพอดี

1. ใจที่มีสติ จะช่วยหยุดหรือลดเรื่องร้ายๆเข้าสู่ชีวิตเรา และจะนำชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีขึ้น
2. ใจที่มีความสุข จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพดี และเป็นวัคซีนป้องกันหรือลดปัญหาหรือทุกข์ที่เข้ามา ถ้าเรามีความสุขมาก มีทุกข์เข้ามานิดเดียวมันก็ไม่กระทบใจ
3. ใจที่มีความพอดี ความพอดีคือพอดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ที่สำคัญคืออย่าเปรียบเทียบความพอดีของเรากับคนอื่น เพราะทันทีที่เริ่มเปรียบเทียบก็อาจจะเกิดทุกข์ได้

แล้วทำอย่าไรใจจะมีสติ มีความสุข และรู้จักพอดี … ก็ต้องทำให้ใจมีพลังหรือกำลัง
เราทำให้ใจเรามีพลังหรือกำลังด้วยการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม

เรียนฟรี สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง (ชินนสาสมาธิ)

อบรมฟรี สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง (ชินนสาสมาธิ)
* เรียนรู้สมาธิตั้งแต่เริ่มต้น
* นั่งสมาธิ เดินจงกรมเพื่ออะไร
* นั่งสมาธิ เดินจงกรม ตามหลักปฏิบัติของหลวงปู่มั่น
* สมาธิช่วยควบคุมอารมณ์ได้อย่างไร

วันอาทิตย์ ที่3 ของทุกเดือน เวลา 08.30-16.00 น.
ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาภูเก็ต
ถ.พังงา ถัดจากธ.ออมสิน 100 เมตร
โทร 076 217321 (จ.-ศ. 17.30-20.30 น.) หรือ 081 677 7936
กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้า

รายละเอียดเพิ่มเติม www.SamathiPhuket.com

อบรม สมาธิ ฟรี จ.ภูเก็ต ชินนสาสมาธิ

ไปสวดมนต์กัน 24/2/2556 18.00 น.

วันอาทิตย์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 18.00 น.
ขอเชิญทุกท่านร่วมสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ
ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา 15 ศูนย์นำชัย จ.ภูเก็ต

17.45 นัดพบกัน
18.00 เริ่มสวด (24/2/55 สวดพระปริตร)
19.00 เดินจงกรม
19.30 นั่งสมาธิ
20.00 แยกย้ายกันกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ
* โทร 076 217 321 (17.30 – 20.30 น.)
* วันทำการปกติ: จันทร์ – ศุกร์  เวลา: 17.30 – 20.30 น.
* สถานที่: สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา 15 ศูนย์นำชัย จ.ภูเก็ต
  145 ถนนพังงา ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
  (อยู่ถัดจาก ธนาคารออมสิน ประมาณ 100 เมตร)

เรียนสมาธิฟรี ชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง)

เปิดอบรม ชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง)
หลักสูตร 1 วัน เวลา 09.00 -16.00 น.
ทุกวันอาทิตย์ ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา15 ศูนย์นำชัย จ.ภูเก็ต

ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ฝึกการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม และการฟังธรรมะ จะมีการบรรยายเกี่ยวกับพื้นฐานของการทำสมาธิ ให้ผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติจริงตามทฤษฎีที่ได้เรียนมา

เป้าหมายของหลักสูตร
– ให้ทุกคนรู้จักทำสมาธิแบบง่ายๆ
– ใช้เวลาเรียนและปฏิบัติน้อยแต่ได้ผลมาก
– รู้จักวิธีทำสมาธิเอาชนะใจตนเอง
– นำสมาธิไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
– ให้รู้จักการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง

เรียนภาคทฤษฎี
– จุดประสงค์การทำสมาธิ
– อิริยาบถ 4
– การบริกรรม
– ประโยชน์ของสมาธิ
– สมาธิกับการควบคุมอารมณ์
– วิทิสาสมาธิ (สมาธิอย่างง่าย)

เรียนภาคปฏิบัติ
– เดินจงกรม
– นั่งสมาธิ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
– บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา อายุ 9 ปีเป็นต้นไป

การเตรียมตัวเข้าฝึกอบรม 
– แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่จำกัดสี
– งดการใช้เครื่องมือสื่อสารขณะฝึกอบรม
– ในกรณีมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

อาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตร ชินนสาสมาธิ: อ.จีระสิทธิ์ ถิระวิริยาภรณ์
อาจารย์ผู้ควบคุมการสอน ชินนสาสมาธิ: อ.ชิราวุธ กรจรุงเกียรติ

การสมัครเข้ารับการฝึกอบรม
ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา15 ศูนย์นาชัย จ.ภูเก็ต หรือ โทร 076 217321 (17.30 – 20.30 น.)

 

ชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง) @ เรือนจำ จ.ภูเก็ต

สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา15 ศูนย์นำชัย จ.ภูเก็ต ร่วมกับ เรือนจำจังหวัดภูเก็ต จัดอบรมชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง) ให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 5 ตุลาคม 2555 รวม 5 วัน โดยได้นิมนต์ พระบรรลือ ศุภกิจ เป็นวิทยากรนำการฝึกอบรม

กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต จำนวน 250 คน
– เป็นผู้ต้องขังชาย 200 คน
– เป็นผู้ตัองขังหญิง 50 คน

การดำเนินการ
จัดฝึกอบรม 5 วัน ในเรือนจำจังหวัดภูเก็ต  โดยแบ่งผู้ต้องขังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 50 คน โดยมีการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ (เดินจงกรม และ นั่งสมาธิ

ผลการดำเนินการ
ในแต่ละวันของการฝึกอบรม มีผู้ต้องขังมาเข้ารับการอบรมประมาณ 50 – 60 คน ทุกคนตั้งใจฟังการบรรยาย และร่วมปฏิบัติอย่างตั้งใจ อาจจะมีผู้เข้ารับการอบรมบางส่วน ประมาณ 10-15% ที่อาจจะละเลยปฎิบัติบ้างเป็นบางช่วง แต่ก็เป็นส่วนน้อย

โดยรวม ผลการดำเนินการประสบความสำเร็จเกิดคาด เมื่อจบการบรรยายในแต่ละวันมีผู้ต้องขังจำนวนมากที่เดินเข้ามาขอบคุณ และอนุโมทนาบุญกับคณะวิทยากร

นั่งสมาธิแล้วง่วง นั่งสมาธิแล้วหลับ จะแก้ไขอย่างไร

ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งมีครับ ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว พระมหาโมคคัลลานะก็เคยประสบกับปัญหานี้ และได้ปรึกษาหาอุบายแก้ง่วยจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำวิธีง่ายๆเช่น ให้ลูบหน้าลูบตา ถ้ายังไม่หายง่วย ก็ให้ไปล้างหน้า หรือให้ไปแหงนดูดาว ก็จะช่วยละความง่วงได้

แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติมาระยะหนึ่งแล้ว นั่งสมาธิไปสักพักก็จะหลับหรือเข้าภวังค์ไป (ภวังค์ ในที่นี้ให้เข้าใจเบื้องต้นว่าคือการหลับนั่นแหละครับ) อันนี้ไม่ต้องตกใจ เป็นเรื่องปกติครับ

เปรียบเทียบกับสมาธิธรรมชาติคือการนอนหลับ ในการนอนหลับนั้น เราเริ่มต้นจากการลดระดับอารมณ์ ตอนเริ่มนอน ระดับอารมณ์ของเราอาจจะอยู่ที่ 100% คือยังคิดโน่นคิดนี่เยอะแยะมากมาย แล้วระดับอารมณ์ของเราจะค่อยๆลดลงจนเราไม่คิดอะไร คือไม่มีความคิดไม่มีอารมณ์ แล้วเราก็หลับไป

จุดนี้ลองสังเกตว่า คนที่นอนไม่หลับคือคนที่ไม่สามารถลดระดับอารมณ์หรือความคิดของตนลงจนไม่คิดอะไรได้ จึงทำให้นอนไม่หลับ คนที่นอนไม่หลับคือคนที่ยังคิดโน่นคิดนี่ คิดปรุงแต่งไปเรื่อย ไม่สามารถหยุดความคิดได้ จึงนอนไม่หลับ

การนั่งสมาธิก็เหมือนกัน เมื่อเราบริกรรมพุทโธ การบริกรรมนั้นจะช่วยลดระดับอารมณ์ลง ตัดอารมณ์อื่นๆลงเหลืออารมณ์เดียวคือพุทโธ พอจิตเรานิ่งไม่คิดอะไร สักพักเราก็จะเข้าภวังค์หรือหลับไป อันนี้เป็นเรื่องปกติ และปกติเมื่อจิตนิ่ง เราก็จะนิ่งได้ไม่นาน ไม่เกิน 5-10 นาทีก็จะเข้าไปภวังค์ทุกคน เมื่อเรารู้สึกตัวขึ้นมากก็ค่อยเริ่มบริกรรมใหม่ได้ครับ แต่หากไม่เข้าภวังค์ ก็อาจมีความคิดเข้ามาปะปนอีก ไม่ต้องตกใจครับ แค่บริรรมใหม่ จิตก็จะนิ่ง

อารมณ์เปลี่ยนง่าย

อารมณ์เปลี่ยนง่าย
อารมณ์ดีอยู่ดีๆเปลื่ยนเป็นอารมณ์ไม่ดีชั่วพริบตา
แต่อารมณ์ไม่ดีจะเปลี่ยนให้เป็นอารมณ์ดีกลับไม่ง่าย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพลังของจิตของคนคนนั้น
การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม ช่วยให้ใจแข็งแรง จิตมีพลัง

WordPress Themes