วัตถุประสงค์การทำสมาธิ คือ การสะสมพลังจิต
การทำสมาธิมีวัตถุประสงค์ คือ การสะสมพลังจิต เป็นสิ่งที่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร เน้นย้ำให้นักศึกษาในหลักสูตรครูสมาธิทุกคนได้รู้ และเข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆของการทำสมาธิตั้งแต่การเริ่มเรียนในบทแรก
เมื่อก่อนเราอาจจะคิด เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุข แต่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านได้บรรยายให้กับนักศึกษาครูสมาธิทุกคนได้รู้ว่า เมื่อเราทำสมาธิ สิ่งที่เราจะได้คือ พลังจิต แล้วพลังจิตนี้แหละที่เป็นส่วนที่ทำให้เกิด ความสุข ความสงบ เกิดปัญญา และทำให้ใจเรามีกำลังมากพอที่จะทำอะไรหลายอย่างได้
พลังจิตที่แท้คือ กำลังใจ
หลายท่านพอเห็นคำว่า “พลังจิต” ก็อาจตกใจ คิดว่าเป็นสิ่งพิเศษหรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ จริงๆแล้ว “พลัง” ก็คือ กำลัง ส่วน “จิต” ก็คือใจของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นพลัวจิตก็คือกำลังของใจของเรา ผู้ที่มีพลังจิตก็คือผู้ที่มีใจที่มีกำลัง
ถ้าเราเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหาร เราจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น การที่เรารับประทานอาหาร สิ่งที่เราต้องการคือ สารอาหาร เช่น โปรตีน วิตตามิน แร่ธาตุ ที่อยู่ในอาหารนั้นเพื่อมาหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา เราคงไม่ได้รับประทานอาหารเพราะต้องการความอร่อย ความอร่อยคือผลพลอยได้เท่านั้น เราเปรียบความอร่อยเหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำสมาธิ เปรียบสารอาหารเหมือนกับพลังจิตซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆจากการทำสมาธิ
ปีเก่าที่ผ่าน ขอให้ท่านได้อะไรดีๆจากกาลเวลา
* ได้รู้ว่า..ปัญหาคือส่วนหนึ่งของเส้นทางความสำเร็จ ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้ท้อ
* ได้รู้ว่า..ความสำเร็จมีไว้ให้ภาคภูมิใจ แต่ไม่ได้มีไว้ให้หลง หรือประมาท
* ได้รู้ว่า..ความทุกข์ มีเพื่อให้เราเข้าถึงธรรม มีไว้ฝึกจิตเรา ไม่ได้มีไว้เพื่อทำให้เราย่ำแย่
* ได้รู้ว่า..ความสุข มีไว้เพื่อหล่อเลี้ยงใจ ให้มีกำลังใจที่จะก้าวต่อ แต่ไม่ได้มีไว้ให้เรายึดติดกับมัน
ขอให้สิ่งดีๆที่ท่านได้มาในปีนี้ เป็นเหมือนเสบียง และเข็มทิศที่จะให้ท่านก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ถูกอย่างไม่หยุดยั้ง
by.. หยดน้ำ
ภาพ.. blog.donedeal. ie
เราคงชอบความอ่อนนุ่ม แต่มิใช่ว่าความหยาบกระด้างไม่มีประโยชน์ หากกระดาษทรายไม่มีความหยาบกระด้าง มันคงไม่สามารถขัดเกลาอะไรได้
“อ่อนนุ่ม กับ หยาบกระด้าง เราเลือกอะไร” คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คงเลือกอ่อนนุ่ม คำถามนี้ผมใช้บ่อยในการบรรยายสมาธิ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รู้ถึงธรรมชาติของใจ คือ ใจของเราชอบในสิ่งที่ดีๆ เช่น รูปงาม กลิ่นหอม รสอร่อย เสียงไพเราะ สัมผัสอ่อนนุ่ม และปฏิเสธในสิ่งที่ตรงกันข้าม
ครับ คนทุกๆคนปรารถนาที่จะมีความสุข และปฏิเสธความทุกข์ ปรารถนาที่จะมีชีวิตปกติ แทนที่จะเจอปัญหา แต่หากเราเข้าใจ.. ไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ก็คือสิ่งปกติที่จะต้องผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ไม่ว่าชีวิตที่ดีการงานที่ดีราบรื่น หรือการที่ประสบปัญหาก็เป็นเรื่องปกติที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราเช่นเดียวกัน
สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ได้จากอีกมุมหนึ่งของปัญหา คือ ปัญหาทำให้เราเก่งขึ้น ปัญหาทำให้เราแกร่งขึ้น ปัญหาช่วยยกระดับจิตของเรา และเราพัฒนาได้เมื่อเจอปัญหา ปัญหาคือบันไดที่ให้เราก้าวขึ้นไป เมื่อขึ้นไปได้ ตัวเราก็สูงขึ้น
คนส่วนมากมักจะกลัวปัญหา จนทำให้หนีปัญหา ไม่อยากแก้ปัญหา ถ้าเป็นเช่นนั้น แทนที่ปัญหาจะเป็นบันไดให้เราก้าวผ่านไป ปัญหากลับเป็นสิ่งขวางกั้นไม่ให้เราก้าวเดินได้ต่อไปได้
ความทุกข์บางครั้งก็เป็นเรื่องดี อย่างที่ท่านว่าไว้ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” ปัญหาก็เป็นเรื่องดีได้ เพราะถ้าไม่มีปัญหา เราก็ไม่ได้พัฒนา
อย่างที่ถามไว้เบื้องต้น “อ่อนนุ่ม กับ หยาบกระด้าง เราเลือกอะไร” เราเลือกอ่อนนุ่ม แต่มิได้หมายความว่าความหยาบกระด้างไม่มีประโยชน์สำหรับเรา หากกระดาษทรายไม่มีความหยาบกระด้าง มันคงไม่สามารถขัดเกลาอะไรได้ ใจเราก็เช่นเดียวกัน หากเจอแต่ความรื่นรมย์ ความสุข ความสบาย ใจของเราคงไม่ได้รับการขัดเกลา
by.. หยดน้ำ
อันดับแรกที่เราต้องการในชีวิตคือ มีกิน มีปัจจัย 4 จริงไหมครับ
ถ้ายังไม่มีกินไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำมาหากินให้มีกินก่อน และแน่นอน การมีกินไม่ใช่มีกินแค่วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร เมื่อเรามีกินในวันนี้แล้ว เราก็ต้องการมีกินวันพรุ่งนี้ด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกว่าชีวิตเราปลอดภัยขึ้น ครับหลายท่านคงจะเริ่มคุ้น นี้ก็เป็นไปตามกฏความต้องการ 5 ขั้นตอนของมาสโลว์
ปัญหามันเริ่มตรงที่ว่า คนเรามักไม่หยุดตรงที่มีกินมีใช้ พอเริ่มมีกินมีใช้ ก็อยากรวย พอรวย ก็อยากมีอำนาจ
ปัญหาก็ยังไม่จบอยู่ดีครับ เพราะพอรวย พอมีอำนาจก็ยังไม่หยุด มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น
แล้วจริงๆชีวิตนี้ เราต้องการอะไร
ในทัศนคติของผม ผมขอตอบว่า “ความสุข” ที่หลายคนพยายามค้นหาและเพิ่มความร่ำรวย ความมีอำนาจ ก็เพราะคิดว่าระดับความสุขจะมีมากขึ้นตามระดับความร่ำรวยและอำนาจที่เพิ่มขึ้น
จริงๆแล้วมีบทพิสูจน์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ความร่ำรวยและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เช่น มีมหาเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย มีรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจมากมายถูกจำคุกและฆ่าตัวตาย มีผู้นำประเทศมากมายทั้งรวยทั้งมีอำนาจแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนได้ (อันนี้ขอละความคิดเห็นทางการเมืองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการจะชี้ว่า ถึงแม่ว่ามีเงินมีอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อบอุ่นได้ เราจะมีไปทำไม
แล้วทำไมคนยังอยากมีเงินมีอำนาจ
ถ้าให้ผมตอบก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นของดี คนที่หลงนั้นคือเขาไม่รู้หรอกว่าเขาเดินทางผิด หรือทั้งๆที่เขาเดินทางผิด เขาก็คิดว่าเป็นทางที่ถูก
คนที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะหาความสุขเจอ
ที่แท้ความสุขของเราอยู่ที่ .. ใจ ทุกคนตอบได้ แต่บางครั้งเราไม่เชื่อจริงๆใช่ไหมครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนหยุดทำมาหากินแล้วมานั่งสมาธิภาวนา เพราะอย่าลืมว่าปัจจัย 4 คือความต้องการพื้นฐาน ถ้าท้องยังไม่อิ่ม อย่าไปหวังความสุขอย่างอื่นเลย
แต่ผมหมายถึงการที่เรามีใจที่มีสติ มีความสุข และมีความพอดี …
1. ใจที่มีสติ จะช่วยหยุดหรือลดเรื่องร้ายๆเข้าสู่ชีวิตเรา และจะนำชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีขึ้น
2. ใจที่มีความสุข จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพดี และเป็นวัคซีนป้องกันหรือลดปัญหาหรือทุกข์ที่เข้ามา ถ้าเรามีความสุขมาก มีทุกข์เข้ามานิดเดียวมันก็ไม่กระทบใจ
3. ใจที่มีความพอดี ความพอดีคือพอดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ที่สำคัญคืออย่าเปรียบเทียบความพอดีของเรากับคนอื่น เพราะทันทีที่เริ่มเปรียบเทียบก็อาจจะเกิดทุกข์ได้
แล้วทำอย่าไรใจจะมีสติ มีความสุข และรู้จักพอดี … ก็ต้องทำให้ใจมีพลังหรือกำลัง
เราทำให้ใจเรามีพลังหรือกำลังด้วยการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
Tags: ค้นหาชีวิต, ความต้องการในชีวิต, ความสุข, ทำสมาธิ, นักโทษ, นั่งสมาธิ, ผู้ต้องขัง, ภูเก็ต, เดินจงกรม, เรือนจำ, ใจ
ความรู้-ประสบการณ์, นั่งสมาธิ-เรียนสมาธิ, สุขภาพ กาย&ใจ | lupthawit 02/06/2013 | Comments (0)
เมื่อได้อ่านหนังสือ ดูคลิปของ ท่าน ว. วชิรเมธี บ่อยครั้งที่ได้ธรรมะจับใจมาก ในความคิดของผม ท่านเป็นอัจฉริยะบุคคลท่านหนึ่ง ท่านสามารถอธิบายเรื่องยากๆให้เป็นเรื่องง่าย อธิบายสิ่งที่อธิบายยาก เป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรม ทำให้เราๆท่านๆเข้าใจได้ง่ายขึ้น
เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ก็ได้ดูคลิป “ใจที่รู้จักพอ เป็นใจที่มีความสุข” แล้วประทับใจมาก จึงอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆรับรู้ด้วย ประเด็นที่ผมจับได้มี 2 ประเด็นหลัก
1. ความสุขไม่ได้ขึ้นกับขนาดทรัพย์สิน หรือวัตถุสิ่งของ เรามีความสุขได้ทุกวัน ถ้ามีเรามีความพอดี และพอใจในสิ่งที่ตนมี พอใจในสิ่งที่ตนเป็น
2. ที่สำคัญ อย่าเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น
อันนี้ตรงใจผมมากทีเดียว ความพอดี เป็นของใครของมัน ความพอดีของเราก็ไม่เท่ากับคนอื่น เช่น เรามีรายได้ 10,000 บาท/เดือน เราทานข้าวจานละ 35-40 บาท ก็พอดีและมีความสุขได้แบบเรา เขามีรายได้ 50,000 บาท/เดือน เขาทานข้าวมื้อละ 100 บาท ก็พอดีและมีความสุขได้แบบเขา แต่ที่สำคัญทุกคนก็กินได้มากที่สุดแค่ 1 อิ่ม อิ่มของใครก็ของมัน ต้องหาสมดุลของตัวเอง
บางครั้งเราไม่มีความสุข เพียงเพราะเราไปเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นแค่นั้นเอง ไปคิดว่าเขามีมากกว่า ดีกว่า เราต้องมีให้เหมือนเขา ก็ตัวเราเองนั่นแหละที่ทำให้ตัวเราไม่มีความสุข
ผมเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนคงเคยได้ยิน เคยเรียน เคยอบรมเรื่องการคิดบวก พวกเรารู้ว่าการคิดบวกเป็นเรื่องที่ดี และพยายามคิดบวก แต่ปัญหาคือ เราไม่สามารถคิดบวกทุกครั้งทุกเรื่องจริงไหมครับ โดยเฉพาะเวลาที่มีเหตุการณ์ร้ายๆเกิดกับตัวเอง ทำไมเหรอครับ
ถ้าถามผมว่า ทำไมเราไม่สามารถคิดบวกได้ทุกครั้ง ผมก็คิดว่า การคิดบวกเป็นสิ่งที่เราต้องฝึก การฝึกจะทำให้เราเก่งขึ้น และคิดบวกได้มากขึ้น อีกอย่างเป็นเรื่องของอารมณ์ บาครั้งเวลาเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ จะทำให้เราเกิดอารมณ์ อาจจะเป็นอารมณ์เศร้า หรือโกรธ หรืออะไรก็ตาม เจ้าอารมณ์นี่แหละที่เป็นตัวกั้นขวางจิตใจเรา
ให้หม่นมัว และทำให้ไม่สามารถคิดบวกได้
ผมมีเพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจที่เก่งมาก เขามีร้านขายที่ระลึกอยู่หลายสาขา แต่ละสาขาก็ต้องจ้างพนักงานขายประจำร้าน มีอยู่สาขาหนนึ่ง ปกติก็จะมียอดขายประมาณ 90,000 บาท/เดือน แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้พนักงานขายที่เก่งคนหนึ่ง ทำยอดขายได้ขั้นต่ำ 200,000 บาท/เดือน ทุกเดือนมาตลอด 2 ปี เป็นยอดขายที่มากกว่ายอดเฉลี่ยที่เคยได้มากว่า 2 เท่าตลอด 2 ปี แต่วันนี้พนักงานคนนั้นกำลังจะออกจากงาน พี่เขาจึงเป็นทุกข์ และมาปรึกษาผมจะทำอย่างไรดี
ถ้าเป็นท่าน!! ท่านจะทำอย่างไร คิดอย่างไร ??
ถ้าพนักงานคนนั้นจะออกจริงๆ ก็ต้องหาพนักงานใหม่นะซิ แต่ที่แน่ๆก็คือ พนักงานทั่งไปไม่สามารถจะทำยอดขายได้ 200,000 บาท/เดือน
เจอปัญหาอย่างนี้ น่าจะเป็นทุกข์หรือเปล่า
ดูเผินๆก็น่าจะเป็นทุกข์ แต่ผมกลับแนะนำพี่เขาไปว่า ไม่เห็นน่าจะทุกข์ตรงไหนเลย น่าจะมีความสุขเสียด้วยซ้ำ เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะเขาโชคดีนะซิครับ หลายๆท่านคงงงว่าพี่เขาโชคดีอย่างไร ผมได้แนะนำพี่เขาไปว่า “พี่โชคดีมาก เพราะเหมือนพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ส่งคนเก่งมาช่วยพี่ตั้ง 2 ปี ทำให้พี่มียอดขายมากกว่าปกติมากๆตั้ง 2 ปี อย่างนี้น่าดีใจหรือเสียใจครับ”
เราจะเสียใจ หรือเราจะดีใจ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พนักงานคนเก่งก็ลาออกอยู่ดี แล้วเราจะเสียใจ หรือดีใจ เราเป็นคนเลือก แล้วเราจะเลือกด้านที่เป็นทุกข์ทำไม เราควรจะคิดบวก และมีความสุขกับชีวิตของเรา และให้กำลังใจตัวเอง คิดวางแผนที่จะสู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
การช่วยคนอื่นแก้ปัญหานั้นง่าย แต่หลายครั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นกับตัวเราเอง เราก็แย่ เราจึงต้องฝึกอย่าสม่ำเสมอที่จะคิดบวก และรู้ใจตัวเอง