Posts tagged: หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

ว่ายน้ำ ออกกำลังกาย รักษา หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

มีเพื่อนหลายๆคนถามด้วยความเป็นห่วงว่าตอนนี้อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นยังไง ยังเจ็บไหม ดูแลตัวเองยังไง ผมจึงเขียนบทความนี้เผื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ และผู้อ่าน

หลังจากที่ผมรักษาอาการปวดบริเวณสะบักซ้ายและแขนซ้ายเนื่องจากหมอนรองกระดูกเสื่อม ทำให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหายแล้ว หายแล้วหมายความว่า ไม่ปวดแล้ว แต่จริงๆหมอนรองกระดูกที่เสื่อมก็ยังคงทับเส้นประสาทอยู่ (ผมคิดว่า) ผมก็ดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และได้มาช่วยพยุง ทำให้หมอนรองกระดูกไม่ต้องรับภาระหนัก

เมื่อก่อนเคยแต่ได้ยินที่หมอพูดให้ออกกำลังกาย ให้ว่ายน้ำ จะช่วยได้มาก ก็ไม่เคยรู้ซึ้งถึงความจำเป็นที่จะต้องทำ แต่ตอนนี้รู้แล้วครับ วันไหนที่ผมต้องนั่งทำงานทั้งวัน หรือต้องทำงานมากๆ ช่วงเย็นก็จะเริ่มรู้สึกรั้งๆที่แขนซ้ายอย่างที่เคยเป็น และผมก็จะไปว่ายน้ำ หลังจากว่ายน้ำสักประมาณครี่งชั่วโมง ผมก็จะรู้สึกว่าอาการรั้งดีขึ้น คลายไปอย่างเห็นได้ชัด

มีรุ่นพี่วิศวะ จุฬาฯ คนหนึ่ง เขาก็มีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเหมือนกัน แต่เป็นที่หลัง ปวดร้าวลงขา แค่เดินขึ้นบันไดก็หอบแล้ว เป็นโรคนี้ตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ปัจจุบันแข็งแรงมาก ไม่มีอาการของผู้ป่วยหลงเหลือเลย ก็ใช้การว่ายน้ำในการรักษา พี่เขาว่ายน้ำทุกวัน และปัจจุบันยังเตะบอลได้ด้วย เป็นนักกีฬาของทีมจุฬ่าฯภูเก็ต แข่งกับทีมธรรมศาสตร์ภูเก็ตตอนแข่งฟุตซอลด้วย

หลายคนถามผมว่า ว่ายท่าไหนดี  อย่าซีเรียสครับ ท่าไหนก็ได้ ให้ได้ว่ายได้ขยับตัวในน้ำก็ช่วยแล้วครับ แต่ในกรณีของผม หมอให้ผมว่ายฟรีสไตล์ ผมก็ไม่ค่อยถนัดเหมือนกัน ก็ว่ายท่ากบบ้าง ท่าฟรีสไตล์บ้าง  สำหรับคนว่ายน้ำไม่เป็นไม่ต้องซีเรียสครับ ก็ไปขยับตัวในน้ำ เลียนแบบท่าที่เขาว่ายไปก็โอเคแล้วครับ การเคลื่อนไหวในน้ำมันลำบาก เพราะมีแรงน้ำต้าน ช่วยให้เราได้ออกแรง ในเวลาเดียวกัน น้ำก็ช่วยพยุง ไม่ให้เราบาดเจ็บ 

หากไม่ได้ไปว่ายน้ำ ผมก็จะใช้การเหวี่ยงแขน หมุนแขน หมุนเอว เรียกว่า “ขยับเท่ากับออกกำลังกาย” เป็นอย่างงั้นจริงๆ เพราะถ้าได้ออกกำลังกายแล้วก็จะช่วยให้แขนหมุนคล่องขึ้น และอาการปวดไม่กลับมาเลย

สรุป ตอนนี้หายปวดมามากกว่า 6 เดือนแล้ว จะมีบางวันที่ทำงานหนักก็จะรู้สึกรั้งๆบ้าง แต่ก็ได้ว่ายน้ำบ้าง หมุนแขน เหวี่ยงแขนบ้าง ก็ช่วยให้อาการดีขึ้น ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ไปเจอหมอมากว่า 6 เดือนแล้ว

หมอนรองกระดูกเสื่อม vs ปวดกล้ามเนื้อ

วันนี้ได้มีโอกาสดูรายการ “คนสู้โรค” ช่อง ThaiPBS เกี่ยวกับอาการ “หมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อม” จึงอยากมาแชร์ให้เพื่อนๆได้รู้ด้วย

คุณหมอท่านบอกว่า อาการหมอนรองกระดูกต้นคอเสื่อม จะทำให้มีอาการปวดเมื่อยคอ ปวดต้นคอ และปวดสะบักได้ทั้งสองข้าง อาการจะคล้ายๆกับการปวดกล้ามเนื้อ แต่จะสามารถแยกได้ว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่โดย
– ถ้าปวดกล้ามเนื้อ อาการควรจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์
– ถ้าปวดกล้ามเนื้อ อาจเป็นเพราะทำงานหนักๆ ใช้กล้ามเนื้อตรงนั้นซ้ำๆ เช่น อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์
– ถ้าปวดเพราะหมอนรองกระดูกเสื่อม การปวดจะไม่สัมพันธ์กับการทำงาน อาจปวดมากขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ อาจปวดมาก ล้าๆ ปวดลึกๆ อาจปวดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง
– การปวดเพราะหมอนรองกระดูกเสื่อม อาจปวดเหมือนคนตกหมอน แต่จะเป็นบ่อยๆ เช่น ทุกๆ 2-3 สัปดาห์

สาเหตุของหมอนรองกระดูกเสื่อม
– ตามความเสื่อมธรรมชาติ เป็นได้ตั้งแต่อายุ 20 ปลายๆ แต่อาจจะเริ่มปวดตอนอายุ 35 ปี
– อุบัติเหตุ
– สูบบุหรี่ – ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกไม่ค่อยดี
– พันธุกรรม – โดยเฉพาะคน จีน และญี่ปุ่น มีโอกาสเสื่อมเร็ว

การตรวจหาว่าเป็นหรือไม่
– ควรไปพบแพทย์โรคกระดูกและข้อ
– หากแพทย์สงสัยว่าจะเป็น แพทย์จะสั่ง X-ray และ อาจให้ทำ MRI

การรักษา
– 80 – 90% ของผู้ป่วยสามารถรักษาด้วยยา และการทำกายภาาพบำบัด
– ที่เหลือ อาจต้องผ่าตัด ซื่งปัจจุบัน มีเทคโนโลยีการให้ตัวยึดกระดูกคอที่เป็นข้อต่อทำจากไททาเนี่ยม ทำให้สามาระเคลื่อนไหวได้ดีหลังผ่าตัด (ผมก็เพิ่งทราบเทคโนโลยีนี้วันนี้หละครับ ก็คิดว่าคงดีไม่น้อง หากวันหนึ่งเราจำเป็นต้องผ่าตัดจริงๆ)

* การผ่าตัดมีอัตราเสี่ยงบ้างเพราะตรงคอมีหลอดอาหาร เส้นเลือด เส้นประสาท แต่ถ้าหมอชำนาญ โอกาสพลาดก็ไม่ถึง 2%  (หมอเขาว่าอย่างนั้นครับ)

หากท่านสนใจ อาจดูข้อมูลที่ผมเคยเขียนไว้..

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีการรักษา

การฝังเข็ม แพทย์ทางเลือกสำหรับหลายโรค

การฝังเข็ม แพทย์ทางเลือกสำหรับหลายโรค

หลังจากผมป่วยด้วยอาการหมอนรองกระดูกที่คอเสื่อม จึงทำให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท และวิธีการที่จะรักษาสำหรับแพทย์แผนปัจจุบันคือ การทำกายภาพบำบัด และการผ่าตัด พอได้ยินว่าต้องผ่าตัดก็ตกใจ เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และยังมีความเสี่ยงสูงอีกด้วย

หลังจากที่ผมรู้ตัวแล้วว่าต้องหาทางรักษาตัวเองอย่างจริงจัง เพราะโรคที่เป็นมันทำให้เจ็บ ทรมาน และมีโอกาสที่จะอาการหนักขึ้น ก็หาทุกวิธีที่น่าจะรักษาอาการได้ และแน่นอนครับ “การฝังเข็ม” คือการรักษาแบบหนึ่งที่ผมได้ลอง

จากวันที่รู้ว่าอาการปวดหลังของตัวเอง เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ถึงปัจจุบัน คุณหมอฝังเข็ม และจัดกระดูกให้ผมไปแล้วทั้งหมดประมาณ 12 ครั้ง จริงๆแล้วอาการปวดของผมลดลงอย่างชัดเจน หลังจากการฝังเข็ม ร่วมกับการจัดกระดูกไปประมาณ 4-5 ครั้ง โดยในปัจจุบันปัจจุบันแทบไม่มีอาการปวดหลังหลงเหลืออยู่ จะรู้สึกตึงๆที่หลังบ้างถ้าต้องทำงานหรือนั่งกับที่นานๆ โดยอาการตึงๆจะมากขึ้นในช่วงเย็น

โดยรวมแล้ว สำหรับผม ผมเชื่อว่าการฝังเข็ม ร่วมกับ การจัดกระดูก ช่วยให้ผมหายปวดได้ไว และได้ผลอย่างชัดเจน และน่าจะมีผลมากกว่าการบำบัดหรือการรักษาโดยวิธีอื่น ทั้วนี้ก็ต้องขอบคุณ คุณหมอซีฮาวอุย (Dr. Kingston C. H. Ooi) หรือชาวบ้านเรียกกันว่า หมออุย หมอใจดีที่ช่วยรักษาให้ผมหายได้ไวขนาดนี้

เดิมทีเดียวผมก็ไม่ได้มั่นใจนักกับการรักษาโดยการฝังเข็ม แต่ช่วงที่ผมลังเล ไม่แน่ใจว่าจะรักษาตัวด้วยวิธีการใดกันแน่ เพื่อนของคุณพ่อของผมท่านหนึ่ง ก็แนะนำผมอย่างแข็งขันว่าให้รักษากับหมออุย เป็นหมอที่ดี ตั้งใจรักษา และไม่เลี้ยงไข้ เพราะเพื่อนของคุณพ่อก็เจ็บจากอุบัติเหตุมานานหลายปี และรักษาด้วยการฝังเข็มกับหมออุยมาปีกว่าแล้ว อาการก็ดีขึ้นมาก ผมก็เลยตัดสินใจลองฝังเข็มกับหมออุยอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องตัดสินใจก็เพราะการฝังเข็มต้องเสียค่าใช้จ่าย 1,000 บาทต่อครั้ง และไม่ใช่ว่าจะฝังเข็มครั้งเดียวแล้วหาย ต้องฝังเข็มต่อเนื่องหลายๆครั้ง รวมแล้วก็ใช้เงินไม่น้อย ในตอนนั้น ผมคิดว่ายังไงก็ดีกว่าผ่าตัด ทั้งถูก และปลอดภัยกว่า

ตลอดระยะเวลาที่ผมรักษากับหมออุย ผมก็ได้พบกับเพื่อนร่วมชะตากรรมหลายท่าน ทั้งอายุน้อยและอายุมาก เพื่อนร่วมชะตากรรมในที่นี้ผมหมายถึงคนที่ต้องป่วยกับโรคเรื้อรังต่างๆ ที่การแพทย์สมัยใหม่มักจะไม่สามารถรักษาได้ เช่น คนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ แล้วไม่สามารถดำรงชีวิตแบบปกติได้ เมื่อได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มแล้ว อาการก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางท่านตอนมารักษาใหม่ๆเดินไม่ได้ ญาติๆต้องช่วยกันหามมาหาหมอ แต่หลังจากฝังเข็มไปได้ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเดินได้ช้าๆโดยใช้ไม้เท้า และมีอีกหลายๆคนที่อาการดีขึ้นมาก

คุณหมออุย ปัจจุบันรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม และวิธีแบบจีน มีคลินิกทั้งในกรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยหมออุยจะอยู่ที่กรุงเทพฯ วันจันทร์ – วันพุธ และอยู่ที่ภูเก็ต วันศุกร์ – วันอาทิตย์

คลินิก ใน กรุงเทพฯ:
1112/45-46 ถ.สุขุมวิท48 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม.10110
โทร  02 712 2063-4
แฟกซ์  02 712 2065

คลินิก ใน ภูเก็ต:
รพ.สิริโรจน์ แผนกฝังเข็มและแพทย์ทางเลือก
โทร 076361818, 076249400 ต่อ 2222
มือถือ 0891440565
คลินิก 0890619609

เว็บไซต์: www.kingston-medical.com

ผมเขียนบทความนี้ก็เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนๆ เผื่อใครมีปัญหาที่บางครั้งอาจรักษาไม่ได้ด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน การฝังเข็มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าลอง และก็ต้องขอขอบคุณหมออุยด้วยความจริงใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท วิธีการรักษา

ตอนนี้ อาการเจ็บหลังจากสาเหตุหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทของผมดีขึ้นมาก หลังจากการรักษาอย่างจริงจังมาประมาณ 2-3 สัปดาห์ บางวันไม่เจ็บเลย บางวันก็เจ็บบ้าง แต่เล็กน้อยมากถ้าเทียบกับแรกๆ นอนได้โดยไม่เจ็บมากแล้ว (ยังรู้สึกเจ็บเล็กน้อย บ้างเป็นบางครั้ง) เลยอยากแบ่งปันให้ทุกคนทราบว่าปฏิบัติตัวและรักษาอย่างไร

จริงๆแล้ว ผมเอาทุกทางที่มีคนแนะนำ และคิดว่าน่าจะช่วยได้ เพราะไม่อยากผ่าตัด และอยากหายเร็วๆ

1. กายภาพบำบัด
ผมทำกายภาพบำบัดแทบทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดของโรงพยาบาล) สิ่งที่นักกายภาพบำบัดทำให้ผมคือ อบแผ่นร้อน ทำอัลตร้าซาวด์ และดึงคอ การอบแผ่นร้อน และทำอัตร้าซาวด์จะช่วยลดปวด ซึ่งก็น่าจะช่วยได้

ผมคิดว่าโรงพยาบาล และคลินิกกายภาพหลายแห่งให้บริการนี้ได้

2. การจัดการะดูก
ผมทำการจัดกระดูกไปหลายครั้ง ทุกครั้งก็รู้สึกดีขึ้นครั้งละนิด จำได้ว่าตอนพบหมอจัดกระดูกครั้งแรก หมอให้นอนคว่ำที่เตียงจัดกระดูก ผมเจ็บมากจนหายใจถี่ๆ ทำให้หมอต้องสอนวิธีหายใจ หลังจากจัดกระดูกครั้งที่ 3 ผมสามารถนอนคว่ำบนเตียงจัดกระดูกได้โดยไม่เจ็บมาก บ่งบอกว่าอาการปวดของผมดีขึ้นมาก

การจัดกระดูกนั้นช่วยลดความกดดันระหว่างกระดูกที่ทับหมอนรองกระดูก หมอจัดกระดูกให้ผมไล่ตั้งแต่ช่วงสะโพกมาถึงคอ หมอบอกว่า ถ้ากระดูกอยู่ในตำแหน่งที่ดี ก็ช่วยลดแรงกดทับได้ตั้งแต่สพโพกถึงคอ

ที่ภูเก็ตตอนนี้เท่าที่ผมรู้มีหมอจัดกระดูกอยู่ 2 ที่
– คลินิกกายภาพบำบัดภูเก็ต โทร 076217134 – โดยหมอวีเรียนด้านจัดกระดูกมา ที่นี่เขาจะจัดกระดูก อบแผ่นร้อน และทำอัลตร้าซาวด์ให้ โดยคิดค่าบริการครั้งละ 600 บาท
– โรงพยาบาลสิริโรจน์ – Dr. Joe เป็นหมอชาวอเมริกัน ที่ใบอนุญาตด้านจัดกระดูก เปิดบริการทุกจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 13.00-16.00น. ค่ารักษาครั้งระ 1500 บาท การจัดกระดูกไม่สามารถเบิกประกันได้นะครับ เพราะเขาบอกว่าเป็นแพทย์ทางเลือก
* สำหรับผม ช่วงหลังผมไปรักษากับ Dr. Joe เพราะรู้สึกว่าเขาจัดให้ผมเยอะในแต่ละครั้ง แพงกว่าก็ยอม เพราะใจร้อน แต่คุณแม่ยาย และป้าสะใภ้ของผมรักษากับหมอวี แล้วอาการก็ดีขึ้นเหมือนกัน

3. ใช้เครื่องออกกำลังกาย Hang Up
Hang Up หรืออุปกรณ์ Inversion Table อันละ 20,075 บาท ช่วยให้เราสามารถห้อยหัวได้อย่างปลอดภัย โดยผมเริ่มบำบัดโดยให้เอียงน้อยๆก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัวได้ ไม่เวียนหัวมาก เริ่มจาก 30 องศา แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น ตอนนี้ทำที่ประมาณ 45 องศา

การใช้ Hang Up จะช่วยลดการกดทับของกระดูกที่ไปทับหมอนรองกระดูก หมอนรองกระดูกก็ไม่ไปทับเส้นประสาท เป็นหลักการธรรมชาติที่ให้กันมาหลายร้อยปีแล้ว

4. ใช้ผ้าขนหนูม้วนรองต้นคอเวลานอน
อันนี้ใช้ผ้าขนหนู หรือหมอนข้างใบเล็กๆของเด็กมารองต้นคอแทนหมอนครับ ปรับขนาดให้เหมาะกับตัวเอง สูตรนี้ได้มาจากพี่หนี CU ครับ เพราะพี่หนีนอนโดยไม่ใช้หมอนมาหลายปีแล้ว พ่อพี่หนีก็มีอาการเหมือนกัน ใช้วิธีนี้ก็ดีขึ้น สำหรับผมคิดว่าวิธีนี้สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง

5. ฝังเข็ม
ฝังเข็มช่วยลดอาการปวดได้ ครั้งสุดท้ายที่ผมฝังเข็ม สามารถลดอาการปวดได้อย่างชัดเจน การฝังเข็มนี้ต้องใช้เวลาทำหลายครั้งครับ ไม่สามาระทำครั้งเดียวแล้วหาย ผมก็ถามหมอตรงๆว่า ฝังเข็มจะช่วยอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้อย่างไร หมอที่ฝังเข็มแนะนำผมว่า การฝังครั้งแรกๆนั้น เพื่อช่วยลดอาการปวด ครั้งต่อๆไปก็จะเป็นการปรับสมดุลหยินหยางในร่างกายเพื่อให้อาการดีขึ้น

การฝังเข็มในภูเก็ตที่ผมรู้มี 2 ที่ครับ
– โรงพยาบาลสิริโรจน์ – หมอฝังเข็มอยู่ประจำที่โรงพยาบาลสิริโรจน์เลย บริการครั้งละ 1,000 บาท ขอบอกว่าไม่สามารถเบิกประกันได้นะครับ เพราะเขาบอกว่าเป็นแพทย์ทางเลือกเหมือนการจัดกระดูก
– หมออุย ที่หมู่บ้านร่มไม้ชายเล ให้บริการฝังเข็ม ประมาณทุกวันอาทิตย์ – อังคาร ต้องเช็ควันทำการเป็นครั้งๆไป และหมออุยมีคลินิครับฝังเข็มที่กรุงเทพด้วย
* ผมรักษากับหมออุย เพราะมีญาติๆหลายคนรักษากับหมออุยครับ และหมออุยทำการจัดกระดูกให้ด้วย

6. การนวดแผนไทย
ผมเชื่อว่าการนวดช่วยลดความเจ็บปวดได้ แต่ตอนนวดเจ็บมากนะครับ (บางครั้ง) แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ บางครั้งถ้าเจ็บจนทนไม่ไหว ไปนวด หายเร็วกว่าทำกายภาพเยอะ

ข้อควรระวังคือ อย่าให้นวดตรงที่หมอนรองทับเส้นประสาท เพราะอาจทำให้แย่หนักขึ้น

ในภูเก็ต เชื่อว่ามีที่นวดหลายที่ ผมไปนวดที่อนามัยแหลมชั่นครับ เป็นหมอแผนโบราณของรัฐบาล ถ้ามีบัตรทองไม่ต้องเสียตังค์ ถ้าไม่มีก็ครั้งละ 100 บาท
หวังว่าข้อมูลนี้คงมีประโยช์กับทุกท่านครับ ถ้าอยากรู้หรือสงสัยตรงไหนก็เขียนมาถามได้ครับ
เอิง

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็น

ผมต้องตกใจตั้งสติแทบไม่ทัน เมื่อรู้จากหมอว่าตัวเองเป็นโรคยอดฮิตของคนสูงอายุ “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ทั้งๆที่เราไม่น่าจะเป็นโรคนี้เมื่ออายุแต่สามสิบต้นๆ

จริงๆเหตุเกิดเมื่อสองปีที่แล้วครับ เมื่อผมปวดบริเวณสะบักซ้าย แล้วร้าวไปบริเวณแขนด้านซ้าย โดยรู้สึกได้ถึงนิ้วก้อยด้ายซ้าย ตอนนั้นผมก็เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หมอฉีดยาแก้ปวด ทำกายภาพบำบัด รู้สึกอาการดีขึ้น แต่ก็ไม่หายโดยสิ้นเชิง รู้สึกปวดเมื่อยบริเวณสะบักซ้า ยอยู่บ้าง ก็ลองแก้ปัญหาหลายวิธี หาหมอ 2-3 ท่าน ก็ไม่หาย จนสุดท้ายก็ได้ลองการนวดแผนไทย ก็ทำให้อาการปวดหายไป ผมจึงคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไรมาก อาจจะเคลื่อนไหวผิดท่าผิดทาง เลยทำให้เอ็นจม หรืออะไรประมาณนั้น

อาการปวดหายไป 2 ปี จนเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่แล้ว ผมเริ่มปวดอีกครั้ง อาการก็เริ่มปวดบริเวณสะบักด้านซ้าย แล้วค่อยๆปวดลงไปที่แขนซ้ายด้านหลัง อาการเป็นเหมือนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมก็ไม่หนักใจอะไรมาก เพราะคิดว่าคงไปนวดและก็น่าจะหายเหมือนเดิม ทุกครั้งที่ผมไปนวดอาการก็ดีขึ้นจริงๆครับ แต่ 2-3 วันมันก็เจ็บขึ้นมาอีก ผมจึงลองหาทางอื่นที่จะทำให้หายเจ็บ คุณแม่ยายก็แนะนำให้ไปลองตรวจที่คลีนิคกายภาพ หมอที่คลีนิคกายภาพ หมอก็ลองให้ผมขยับแขนขึ้นลง ทำท่าทางต่างๆ แล้วหมอก็บอกว่า น่าจะเป็นเพราะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไม่เชื่อก็ให้ลองไปเอ็กซเรย์ดูได้

ผมก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เชื่อหรอกครับ เพราะหมอก็อธิบายทุกอย่างแบบมีเหตุ มีผล แต่ก็อยากจะตรวจดูให้ชัดๆ ก็เลยลองไปโรงพยาบาลสิริโรจน์ เพื่อตรวจดูอย่างละเอียดอีกที ก็ได้เจอกับหมอสมศักดิ์ ที่เป็นหมอเชี่ยวชาญด้านกระดูก ตอนแรกคุณหมอก็ให้ไปเอ็กซเรย์ช่วงคอ คุณหมอก็พบความผิดปกติอย่างหนึ่งคือ ปกติกระดูกคอจะโค้งไปทางด้านหลัง แต่ของผมกลับตรงและงุ้มมาทางข้างหน้าเล็กน้อย หมอก็ถามว่า ผมเคยประสบอุบัติเหตุอะไรหรือไม่ ผมก็ตอบว่าไม่เคย หลังจากนั้นคุณหมอก็ส่งผมไปทำ MRI ที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตในวันเดียวกัน ผมเดาว่าเพื่อให้เห็นการกดทับที่ชัดเจนขึ้น

วันรุ่งขึ้นผมก็ได้พบหมออีกครั้ง และหมอก็บอกว่าอาการของผมนั้นเกิดจาก หมอนรองกระดูกที่คอประมาณชิ้นที่ 5-7 ทับเส้นประสาท โดยหมอนรองกระดูกมันปลิ้นออกมาแล้ว และทางที่จะรักษาให้หายทางเดียวก็คือต้องผ่าตัด โดยต้องผ่า 2 ที่ คือที่สะโพก และที่คอ ผ่าสะโพกเพื่อเอากระดูกสะโพกมาแปะไว้ที่คอ หัวใจผมไม่ได้หล่นไปที่ตาตุ่มนะครับ แต่มันเหมือนหล่นหลุดไปจากร่างไปเลย งงบตัวเองอยู่พักหนึ่ง แต่ก็ทำไงได้ก็มันเป็นแล้วนี่ หลังจากวันนั้นผมก็ต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องมา

สองวันหลังจากได้ทำกายภาพบำบัด ก็บังเอิญได้เจอกับพี่อนุรักษ์ขณะกำลังรอลิฟต์ หลังจากนั้นได้คุยกับพี่อนุรักษ์ พี่อนุรักษ์ก็แนะนำว่าที่โรงพยาบาลสิริโจน์เพิ่งจะมีหมอจัดกระดูก ถ้าผมสนใจก็จะนัดให้ ผมคิดว่าผมไม่อยากผ่าตัด ถ้ามีทางไหนที่ลองได้ก็อยากลองทั้งนั้น ก็เลยรอพบอหมอจัดกระดูก

หมอจัดกระดูกชื่อ Dr. Joe น่าจะเป็นชาวอเมริกัน ผมก็เอาฟิล์ม MRI ให้หมดดู แล้วผมก็ถามหมอตรงๆว่า ถ้าผมจัดกระดูกกับหมอแล้ว ผมไม่ผ่าตัดได้ไหม หมอก็บอกว่า “อาจจะไม่ได้” แต่สิ่งที่อาจเป็นไปได้คือ อาจช่วยยืดการผ่าตัดออกไป โดยอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตอนนี้ แต่อาจเป็นอีก 2 ปี, 5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี ขึ้นอยู่กับตัวผมเองว่าตอบรับการรักษาได้ดีแค่ไหน สิ่งที่หมอ Joe พูดคือ เราควรจะยืดการผ่าตัดให้ได้นานที่สุด เพราะอย่างน้อยเทคโนโลยีด้านการผ่าตัดในอนาคต ย่อมน่าจะดีและปลอดภัยกว่าในปัจจุบัน ก็เป็นทัศนะที่ดี และผมก็เห็นด้วย

หลังจากออกจากโรงพยาบาล ภรรยาสุดที่รักก็ให้ผมไปลองตรวจกับหมอบุญเลิศ เพราะเป็นหมอด้านประสาทที่เก่งคนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ผมเองด้วยความรักและยำเกรงก็ไป ตามคำสั่งโดยดี (ล้อเล่น) คุณหมอก็บอกว่าเป็นมากเหมือนกัน ต้องผ่าตัด แต่คราวนี้มีให้เลือก 2 แบบ คือ แบบแรกคือเอากระดูกสะโพกมาแปะที่คอให้ มันแข็งไว้ กระดูกคอจะได้ไม่กดทับ แบบที่2 คือ ต้องใส่หมอรองกระดูกเทียม ซี่งใบหนึ่งราคาประมาณ 1 แสนบาท และที่รู้ๆผมต้องใส่ไม่ต่ำกว่า 2 ใบ แต่เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม เรื่องใหญ่คือไม่มีเงิน ไม่ใช่ครับ ประเด็นคือการผ่าตัดนั้น ผลก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมอบอกว่ามีโอกาสพลาด 20% ไม่ได้หมายความว่าหมอพลาด แต่ผลอาจไม่แน่นอนจนอาจถึงชีวิตได้ หมอบอกว่านี่เป็นสถิติทั่วโลก จึงอยากให้การผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย คุณหมอจึงสั่งให้ผมทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง แล้วค่อยมาดูอาการกันอีกที

ที่ผมเขียนมาตั้งนานจนถึงตอนนี้ ก็อาจจะเตือนเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคน ไม่อยากให้เป็นเหมือนผม ผมเจอหมอทุกคน ทุกคนก็มักจะถามผมว่าเคยประสบอุบัติเหตุอะไรหรือไม่ ผมคิดแล้วคิดอีกก็น่าจะไม่เคย และก็บอกว่าปกติโรคนี้ไม่น่าจะเป็นในขณะที่อายุเพียงแค่นี้  หลังจากที่ผมได้คิดแล้ว ก็น่าจะพอสรุป ณ ตอนนี้ได้ว่า น่าจะเป็นเพราะผมทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เพราะกระดูกคอของผมแทนที่จะแอ่น ไปด้านหลังเหมือนคนทั่วไป และกลับตรงและงอมาหน้าเล็กน้อย บวกกับการไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แถมยังทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่อีก เลยทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เป็นอย่างนี้สะสมมากว่าสิบปี จึงทำให้ป่วยเพราะความละเลย และความประมาทของตัวเอง

WordPress Themes