Posts tagged: อารมณ์

อารมณ์เปลี่ยนง่าย

อารมณ์เปลี่ยนง่าย
อารมณ์ดีอยู่ดีๆเปลื่ยนเป็นอารมณ์ไม่ดีชั่วพริบตา
แต่อารมณ์ไม่ดีจะเปลี่ยนให้เป็นอารมณ์ดีกลับไม่ง่าย
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพลังของจิตของคนคนนั้น
การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรม ช่วยให้ใจแข็งแรง จิตมีพลัง

รู้จักใจ

“ใจ”หรือ“จิต” ไม่ใช่หัวใจ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเรา ใจอยู่ใกล้ชิดกับเรามาก แต่บางครั้งเรากลับรู้จักใจของเราน้อยเหลือเกิน เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะใจเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่ทุกคนต่างก็รู้ว่ามีอยู่จริง

เพราะใจเป็นนามธรรมนี่แหละครับ ทำให้อธิบายยากว่าใจเป็นอย่างไร เหมือนจะให้เราอธิบายว่าอาหารจานหนึ่งอร่อย อร่อยอย่างไร อธิบายได้ยาก แต่ถ้าได้ชิมก็จะรู้เองว่าอร่อยอย่างไร ถ้าภาษาธรรมเขาบอกว่าเป็น “ปัจจัตตัง” คือ รู้ได้ด้วยตนเอง (พิสูจน์ยาก)

หลังจากที่ผมเรียนสมาธิในหลักสูตร ครูสมาธิ ที่ สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาภูเก็ต ก็ทำให้ผมรู้จักใจตัวเองมากขึ้น อย่างแรกอยากเล่าให้ฟังคือ

ลักษณะของจิตหรือใจ มีลักษณะดังนี้ ดิ้นรน (ไปหากามคุณ), กวัดแกว่ง, รักษายาก, ห้ามยาก, ดิ้นรนไปมา, เปลี่ยนแปลงง่าย,  เที่ยวไปไกล,  เที่ยวไปดวงเดียว, ไม่มีรูปร่าง, ไม่มีสี, อาศัยอยู่ในร่างกาย ท่านลองพิจารณาดูว่าจริงหรือไม่ ถ้าจะเปรียบก็เปรียบใจเราได้เหมือนลิง คือมันอยู่ไม่นิ่ง ต่อให้มัดลิงให้มันอยู่นิ่งๆ ลิงมันก็ยังยักคิิ้วหลิ่วตาได้

ใจของเราก็เหมือนร่างกาย ต้องรับประทานอาหาร ต้องออกกำลัง และต้องการพักผ่อน ..

อาหารของใจ ก็คือ อารมณ์ ใจของเราทำหน้าที่ รับอารมณ์ เก็บอารมณ์ แล้วก็ ใช้อารมณ์ เมื่อเรารับอารมณ์ดี เราก็เก็บอารมณ์ดี เราก็จะใช้อารมณ์ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารับอารมณ์ไม่ดี เราก็เก็บอารมณ์ที่ไม่ดี และก็ใช้อารมณ์ที่ไม่ดี เหมือนการรับประทานอาหารครับ ถ้าเรารับประทานอาหารขยะ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะเกิดโทษต่อร่างกายของเราเอง

ส่วนเรื่อการออกกำลัง การออกกำลังกาย และการออกกำลังใจนั้นมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการออกกำลังกายทำได้โดยการขยับ ยิ่งขยับยิ่งเท่ากับออกกำลังกาย ส่วนการออกกำลังใจนั้นต้องนิ่งครับ ยิ่งนิ่งเท่าไหร่ก็ได้ออกกำลังใจมากเท่านั้น

ร่างกายของเรา ถ้าทำงานโดยไม่พักผ่อนเลย ร่างกายก็จะทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ใจก็เช่นกัน ถ้าใจวุ่นวาย มีเรื่องให้คิด วิ่งไปตามอารมณ์ทั้งวันไม่หยุดพัก ใจของเราก็จะย่ำแย่ แต่การย่ำแย่นี้ไม่ใช่แย่เฉพาะที่ใจ มันส่งผลถึงร่างกายด้วย

ร่างกายของเราหากไม่ได้รับการออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ ร่างกายก็จะอ่อนแอ ป่วยง่าย ใจก็เช่นกัน หากใจไม่ได้ออกกำลังและพักผ่อนที่เพียงพอ ใจของเราก็จะอ่อนแอเช่นกัน ท่านอาจจะสงสัยว่าอาการอ่อนแอของใจเป็นอย่างไร คนที่ใจอ่อนแอก็มีอาการ เช่น นอนไม่หลับ เครียดง่าย ซึมเศร้าง่าย  โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย หายช้า …

การออกกำลังใจ และการพักผ่อนใจ ทำได้ง่ายๆโดยการนอนหลับ การนั่งสมาธิ และ การเจริญสติ แต่สิ่งที่ว่าง่ายนี้ บางคนอาจทำไม่ได้ถ้าไม่เคยฝึก

นั่งสมาธิ ทำไมยากจัง

คงเป็นธรรมดาของการที่เราไม่เคยทำอะไรบางอย่าง และลองทำเป็นครั้งแรก ก็จะรู้สึกขัดๆ หรือยาก เป็นเรื่องธรรมดา การเรียนสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายสำรับคนธรรมดาอย่างเราที่มีชีวิตอันวุ่นวายอยู่ในสังคมและการทำงาน

หลายๆท่านคงมีปัญหาเหมือนๆกันเวลาหัดนั่งสมาธิใหม่ๆคือ เราก็ได้แต่นั่งขัดสมาธิ เอามือขวาหงายทับมือซ้าย ท่องพุทโธได้แค่คำสองคำ ใจของเราก็ไม่ได้อยู่ที่พุทโธแล้ว เตลิดไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้ อันนี้อยากให้ท่านเข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของจิต (หรือใจ) ของเราเอง ไม่ได้แปลกอะไร

ใจของเรา มันก็มีคุณสมบัติของมัน เช่น ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก เที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว เป็นต้น แค่ท่านรู้คุณสมบัติเบื้องต้นของใจแค่นี้ท่านก็รู้แล้วใช่ไหมครับว่าใจเราเหมือนลิง แต่ไวยิ่งกว่า แค่เราจับลิงมาให้อยู่นิ่งๆก็ยากแล้ว จับใจให้อยู่นิ่งก็ยากยิ่งกว่า

แล้วจะทำอย่างไรให้ใจอยู่นิ่ง

ลิงอยู่นิ่งได้ก็ต้องฝึก ใจเราจะนิ่งจะสงบได้ก็ต้องฝึกเช่นกัน การที่เราทำงาน มีกิจกรรมมาทั้งวัน แล้วมานั่งสมาธิให้จิตใจสงบ บางครั้งมันเป็นการยากจริงๆ เหมือนน้ำที่ไหลเชี่ยวมา แล้วเราเอาอะไรไปขวางให้หยุดนิ่ง มันก็เอาไม่อยู่ ถูกแรงน้ำพัดไปหมด วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การเดินจงกรม ก่อนนั่งสมาธิ การเดินจงกรมจะช่วยกรองอารมณ์ ช่วยลดระดับอารมณ์ที่วุ่นวายมาทั้งวัน เหมือนช่วยชะลอกระแสน้ำที่เชี่ยว

ผมเจอคนที่เคยลองทำสมาธิหลายท่าน ที่บางครั้งจิตใจไม่ค่อยนิ่งเวลานั่งสมาธิ เมื่อได้เดินจงกรมก่อน การนั่งสมาธิก็จะได้ผลดี ใจสงบขึ้นมาก บางคนที่มาเรียนที่สถาบันพลังจิตตานุภาพครั้งแรกๆ ก็แปลกใจที่ทำไมตัวเองรู้สึกสงบมากกว่าปกติ ก็เพราะเราเดินจงกรมก่อนนั่งสมาธิ

แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาทีก็ยากแล้ว

สำหรับคนเริ่มใหม่ (หรือแม้กระทั่งคนเก่า) แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาที ไม่ให้วอกแวกไปเรื่องอื่นเลย แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อันนี้ไม่ต้องตกใจครับเพราะเป็นกันทุกคน เราก็ต้องค่อยๆหัดตะล่อมใจตัวเองให้มาอยู่กับพุทโธ ฝึกให้ใจมาอยู่ที่จุดๆเดียวด้วยการนึกพุทโธ

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้กรุณาแนะนำว่า ให้สมมุติ “พุทโธ” เหมือนกับกระสุนปืน เมื่อมีอารมณ์หรือมีความคิดเข้ามา ให้เรานึกพุทโธเพื่อทำลายอารมณ์หรือความคิดเหล่านั้น เหมือนกับการที่เราเอากระสุนยิงศัตรู ยิ่งถ้ามีอารมณ์หรือความคิดเข้ามามาก ก็ให้เรานึกพุทโธถี่ขึ้น (ท่องพุทโธถี่ๆ) เหมือนกับเวลามีศัตรูเข้ามามาก ยิงกระสุนทีละนัดคงไม่ทัน ก็ต้องใช้การยิงปืนกลเพื่อฆ่าศัตรู (การนึกพุทโธ ไม่จำเป็นต้องตามจังหวะลมหายใจ)

ในบางครั้ง หากเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องคิด เราอาจจะคิดให้เสร็จขณะเดินจงกรมก็ได้ คิดเสร็จแล้วค่อยนึกพุทโธใหม่ก็ได้เช่นกัน การคิดในขณะที่เดินจงกรม ขณะที่ใจเราสงบ มีสมาธิ บางครั้งก็ทำให้เราได้ความคิดอะไรดีๆเหมือนกัน

สิ่งที่ยากกว่าคือการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่รู้กันแล้วว่า แค่นึกพุทโธในใจ 5 นาทีก็ยากแล้ว แต่ทำอย่างไรที่เราจะฝึกนั่งสมาธิได้ทุกวัน อันนี้ยากกว่า แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้ ถ้าให้ผมเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับเวลาเราต้มน้ำ เรายกกาต้มน้ำบนเตาไฟ ตั้งแค่ 2 นาทีแล้วยกออก รอไปอีก 2 ชั่วโมง แล้วก็เอากาไปตั้งบนเตาอีกครั้ง ทำอย่างนี้ไปกี่เดือนกี่ปี น้ำไม่มีวันเดือดแน่นอน การทำสมาธิก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ผลที่ได้ก็จะไม่เต็มที่

ใจของเรา มักจะสกปรกได้ง่าย สกปรกจากอารมณ์ต่างๆ ทั้งทำให้สุขและทุกข์ ในชีวิตประจำวันของเรา เจอกับอารมณ์ต่างๆเข้าสู่ใจตลอดเวลา ถ้าเราไม่หมั่นทำความสะอาด ใจของเราก็จะค่อยๆขุ่นมัว เพราะฉะนั้นเราควรจะปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความสะอาดใจของเรา แค่ครั้งละ 5 นาทีก็ได้ ทำวันละ 3 ครั้งเหมือนทานข้าว 3 มื้อ

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้สอนพวกเราว่า “การทำสมาธิ เวลาขยันก็ทำ เวลาขี้เกียจก็ต้องทำ” ผมก็ปฏิบัติตามนั้น หมายความว่า เวลาขี้เกียจ เราได้ทำน้อยดีกว่าไม่ได้ทำเลย แต่ทำให้เป็นนิสัย ในปัจจุบัน ผมสามารถตื่นตอนตีห้าครึ่ง นั่งสมาธิ เดินจงกรม อย่างละ 30 นาทีแทบทุกวัน จริงๆแล้วทำทุกวันครับ แต่วันที่นอนดึก ตื่นไม่ไหว อาจทำน้อยกว่า 30 นาที เพื่อทำให้ติดเป็นนิสัย

ทำสมาธิแล้ว เหมือนไม่ได้อะไร

เป็นความรู้สึกปกติครับ เพราะการเรียนสมาธิ เป็นการทำงานกับใจ เป็นเรื่องของนามธรรม มันวัดกันยาก จะมีใครมาวัดให้เราก็ไม่ได้ เหมือนกับเรารับประทานอาหารแล้วอร่อยหรืออิ่ม ไม่มีใครมาบอกได้ว่าเราอร่อยหรืออื่ม ตัวเราจะรู้ตัวเราเองไม่มีใครบอก

พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ท่านได้เปรียบเทียบเหมือนเราเรียนหนังสือแล้วได้ความรู้ ลองนึกดูซิครับเราเรียนหนังสือแล้วเราได้ความรู้เมื่อไหร่ ลองคิดถึงเด็กๆที่อ่านไม่ออก แล้วหัดอ่าน ก ข ค .. เขาได้ความรู้เมื่อไหร่ บางทีเราตอบไม่ได้ แต่รู้อีกทีตอนสิ้นเทอม หรือสิ้นปีว่าเขามีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว เขาอ่านออกเขียนได้แล้ว การเรียนสมาธิก็เช่นเดียวกัน ตัวเราเองจะค่อยๆพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย จนเวลาผ่านไป 2-3 เดือน เราจะสังเกตเห็นว่าเราเริ่มเปลี่ยนไป

รู้ได้อย่างไรว่าที่ทำสมาธิมาได้ผล

ตอนที่ผมเป็นนักศึกษาครูสมาธิ อาจารย์ก็ถามพวกาเราอย่างนี้ในห้องเรียน หลังจากที่เราเรียนสมาธิไปได้ประมาณ 3 เดือน พวกเราก็ตอบกันไม่ค่อยถูกเหมือนกัน แต่พออาจารย์ตั้งคำถามใหม่ “ใครรู้สึกว่าตัวเองโกรธน้อยลง โกรธยาก หายเร็ว ซึาเศร้าน้อยลง นอนหลับสบายขึ้น หลับลึก ง่วงนอนน้อยลง ใจสบายขึ้น” พวกเราทุกคนเห็นด้วยว่าพวกเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นี่แหละครับการวัดผลขั้นต้น และเป็นผลที่ได้จากการเรียนสมาธิ

ถึงตอนนี้แล้ว ถ้าท่านทำความเข้าใจ และเริ่มคุ้นเคยกับการทำสมาธิ ก็จะเริ่มรู้ว่าการทำสมาธินั้นไม่ยาก จริงๆแล้วนอกจากปัญหากับใจข้างต้นแล้ว การเริ่มทำสมาธิใหม่ๆยังมีปัญหากับกาย เช่น นั่งนานแล้วปวดเมื่อย แรกๆอาจต้องอาศัยความอดทน ต่อจากนั้นก็จะเริ่มชิน สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ได้ นั่งเก้าอี้แทนก็ได้ครับ การทำสมาธิเรื่องใหญ่คือการทำงานกับใจ ถ้าเราทำงานกับใจเป็น เรื่องกายนั้นไม่ใช่ปัญหา

 ท่านสามารถศึกษาวิธีปฏิบัติของสถาบันพลังจิตตานุภาพโดยคลิก การเดินจงกรม และ  การนั่งสมาธิ   ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามวิธีการของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เมื่อควบคุมอารมณ์ไม่ได้ กับ ความจำเป็นของสมาธิ

บางครั้งเราทำอะไรไป โดยที่เราไม่รู้อารมณ์ตัวเองเสียด้วยซ้ำ เรื่องที่ผมโพสด้านล่างได้จากเมล์ที่ได้รับการส่งต่อจากเพื่อนในวันนี้ อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก จึงอยากแบ่งปันให้ทุกท่านอ่าน

ถามว่า คุณพ่อรู้ไหมว่าลูก กับรถ อันไหนสำคัญกว่า   ทุกคนก็ตอบว่า “รู้” แต่ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น ก็เพราะขาดสติไง อย่าว่าแต่เขาเลย บางครั้งเราก็เป็น ผมเชื่อมั่นว่า หากเขาได้เรียนสมาธิ เขาจะมีสติมากขึ้น และเหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น

เรื่องเล่ามีดังนี้
ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังขัดล้างรถอย่างขะมักเขม้นลูกชายวัย 4 ขวบ ก้มลงเก็บก้อนหินขึ้นมา แล้วบรรจงขูดขีดไปบนด้านข้างของตัวรถ

พักใหญ่ต่อมา… เมื่อพ่อได้ยินเสียงครูดของหิน ก็เกิดความฉุนเฉียว โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เขากระชากมือลูกมา ตีลงบนมือน้อย ๆ นับครั้งไม่ถ้วน โดยไม่ทันนึกว่าตนได้ถืออะไรอยู่ในมือ

ณ โรงพยาบาล.. นิ้วลูกชายถูกตัดออก เพราะกระดูกแตก จนหมอไม่สามารถเชื่อมต่อได้

ขณะที่พ่อเข้ามาดูลูกในห้อง ลูกมองพ่อด้วยสายตาปวดร้าว แล้วถามพ่อว่า ” เมื่อไร นิ้วหนูจึงจะยาวเหมือนเดิม ? “

คำถามนั้น… เหมือนคมมีดกรีดลึกลงไปในหัวใจผู้เป็นพ่อ เขารู้สึกละอายใจ รู้สึกผิด และเสียใจในการกระทำตนอย่างไม่อาจให้อภัย

เขาจึงกลับไปที่รถ เตะมันสุดแรงเกิดโดยไม่ยั้งจนเหนื่อยหอบ แล้วทรุดตัวลงนั่งข้างรถอย่างเศร้าใจ

สายตาพลันเหลือบไปเห็นรอยขูดขีด เขาเบิกตากว้าง ! จ้องมองคำว่า “รักพ่อ” น้ำใส ๆ เริ่มเอ่อ  แล้วไหลอาบแก้ม เขาเอามือปิดหน้าร้องไห้สะอึกสะอื้นราวกับใจจะขาด

รุ่งขึ้น… ชายคนนั้นได้ฆ่าตัวตาย

อารมณ์โกรธ มีโทษมหันต์
ปัญหาของโลกในทุกวันนี้ คือ
คนบางคน.. รักรถ หวงรถ หรือสิ่งของอื่น  ยิ่งกว่ารักและห่วงใยลูก หรือ เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
จำไว้เสมอว่า สิ่งของมีไว้ให้ใช้ และ คนมีไว้ให้รัก

ผมรู้ดีว่าพ่อคนนี้เขาเสียใจแค่ไหน เพราะผมเองเวลาโมโห ก็เคยตีลูกเพราะความโมโหมากกว่าเหตุผล ถึงแม้ลูกจะผิดจริง แต่หลายครั้งก็ควรจะแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย อบรมสั่งสอน มากกว่าการทำโทษ พอรู้ตัวก็ขอโทษลูก และบางครั้งก็กอดลูกร้องไห้ด้วยกัน

หลังจากที่ผมได้เรียนสมาธิที่สถาบันพลังจิตตานุภาพเพียงไม่กี่เดือน ผมก็รู้สึกว่าผมได้รับอะไรๆมากว่าที่คาดว่าจะได้รับ คือ เรามีสติมากขึ้น เวลาจะทำโทษลูกก็รู้ว่าเราต้องการสั่งสอนให้เขาเป็นคนดี ไม่ใช่เพราะเราโกรธ หรือโมโห

ผมได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับสมาธิ การนั่งสมาธิ และการเรียนสมาธิไว้ที่ http://lupthawit.purethailand.com/category/health/meditation/ ท่านสามารถศึกษาได้ครับหากสนใจ

พ่อในเรื่องข้างต้น ขาดสติอย่างมาก และพลาดถึง 3 ครั้ง
1. ลงโทษลูกอย่างรุนแรง เพราะ ขาดสติ และ โทสะ ในตัวเอง
2. ไปเตะรถ ก็แสดงถึงการขาดสติ ยับยั้งความโกรธในตัวไม่ได้
3. ตัดสินใจผิดที่ไปฆ่าตัวตาย จะทำให้ลูกลำบาก และเป็นทุกข์มากกว่าเดิม

จากเนื้อเรื่อง ผมคิดว่าพ่อในเรื่องคงไม่ได้รักลูกน้อยกว่าพ่อคนไหนๆในโลก ท่านว่าจริงไหมครับ

WordPress Themes