ค้นหาชีวิต1 – สิ่งที่เราต้องการในชีวิตแท้จริงคืออะไร
อันดับแรกที่เราต้องการในชีวิตคือ มีกิน มีปัจจัย 4 จริงไหมครับ
ถ้ายังไม่มีกินไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำมาหากินให้มีกินก่อน และแน่นอน การมีกินไม่ใช่มีกินแค่วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร เมื่อเรามีกินในวันนี้แล้ว เราก็ต้องการมีกินวันพรุ่งนี้ด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกว่าชีวิตเราปลอดภัยขึ้น ครับหลายท่านคงจะเริ่มคุ้น นี้ก็เป็นไปตามกฏความต้องการ 5 ขั้นตอนของมาสโลว์
ปัญหามันเริ่มตรงที่ว่า คนเรามักไม่หยุดตรงที่มีกินมีใช้ พอเริ่มมีกินมีใช้ ก็อยากรวย พอรวย ก็อยากมีอำนาจ
ปัญหาก็ยังไม่จบอยู่ดีครับ เพราะพอรวย พอมีอำนาจก็ยังไม่หยุด มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น
แล้วจริงๆชีวิตนี้ เราต้องการอะไร
ในทัศนคติของผม ผมขอตอบว่า “ความสุข” ที่หลายคนพยายามค้นหาและเพิ่มความร่ำรวย ความมีอำนาจ ก็เพราะคิดว่าระดับความสุขจะมีมากขึ้นตามระดับความร่ำรวยและอำนาจที่เพิ่มขึ้น
จริงๆแล้วมีบทพิสูจน์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ความร่ำรวยและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เช่น มีมหาเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย มีรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจมากมายถูกจำคุกและฆ่าตัวตาย มีผู้นำประเทศมากมายทั้งรวยทั้งมีอำนาจแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนได้ (อันนี้ขอละความคิดเห็นทางการเมืองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการจะชี้ว่า ถึงแม่ว่ามีเงินมีอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อบอุ่นได้ เราจะมีไปทำไม
แล้วทำไมคนยังอยากมีเงินมีอำนาจ
ถ้าให้ผมตอบก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นของดี คนที่หลงนั้นคือเขาไม่รู้หรอกว่าเขาเดินทางผิด หรือทั้งๆที่เขาเดินทางผิด เขาก็คิดว่าเป็นทางที่ถูก
คนที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะหาความสุขเจอ
ที่แท้ความสุขของเราอยู่ที่ .. ใจ ทุกคนตอบได้ แต่บางครั้งเราไม่เชื่อจริงๆใช่ไหมครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนหยุดทำมาหากินแล้วมานั่งสมาธิภาวนา เพราะอย่าลืมว่าปัจจัย 4 คือความต้องการพื้นฐาน ถ้าท้องยังไม่อิ่ม อย่าไปหวังความสุขอย่างอื่นเลย
แต่ผมหมายถึงการที่เรามีใจที่มีสติ มีความสุข และมีความพอดี …
1. ใจที่มีสติ จะช่วยหยุดหรือลดเรื่องร้ายๆเข้าสู่ชีวิตเรา และจะนำชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีขึ้น
2. ใจที่มีความสุข จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพดี และเป็นวัคซีนป้องกันหรือลดปัญหาหรือทุกข์ที่เข้ามา ถ้าเรามีความสุขมาก มีทุกข์เข้ามานิดเดียวมันก็ไม่กระทบใจ
3. ใจที่มีความพอดี ความพอดีคือพอดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ที่สำคัญคืออย่าเปรียบเทียบความพอดีของเรากับคนอื่น เพราะทันทีที่เริ่มเปรียบเทียบก็อาจจะเกิดทุกข์ได้
แล้วทำอย่าไรใจจะมีสติ มีความสุข และรู้จักพอดี … ก็ต้องทำให้ใจมีพลังหรือกำลัง
เราทำให้ใจเรามีพลังหรือกำลังด้วยการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม