ชีวิตจะดีขึ้น ต้องเริ่มทำ
หนทางหมื่นลี้เริ่มต้นจากก้าวแรกฉันใด อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากมีใจที่แข็งแรง ใจที่มีกำลัง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการหัดทำสมาธิฉันนั้น เมื่อท่านอ่านมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าท่านพร้อมแล้วที่จะ “เริ่มทำสมาธิ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น”
การทำสมาธินั้นสามารถทำได้ในแทบทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แม้กระทั่งตอนนอนเราก็สามารถฝึกทำสมาธิได้ แต่ปกติเราจะยังไม่ค่อยฝึกสมาธิในอิริยาบถนี้นะครับ เพราะมันจะหลับไปเสียก่อน การฝึกปฏิบัติสมาธิที่เราทำกันมี 2 อิริยาบถหลัก คือ การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ
การทำสมาธิ คือ การทำให้ใจนิ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่ในอิริยาบถไหนที่ทำให้ใจเรานิ่งได้ ก็สามารถเป็นสมาธิได้ แม้ว่าขณะนั้นร่างกายไม่นิ่ง เช่น การเดินจงกรม แต่เราพยายามทำให้ใจนิ่งได้ ก็เรียกว่าทำสมาธิ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวหรือมีอะไรมากระทบมากจนเกินไป (ในที่นี้หมายถึงทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆมากระทบ) เพราะจะทำให้เกิดสมาธิได้ยากขึ้น
การฝึกปฏิบัติสมาธิ ควรทำทั้ง การเดินจงกรม และ การนั่งสมาธิ
การเดินจงกรม เป็นการช่วยฝึกการลดระดับอารมณ์ หรือ เคลียร์อารมณ์ได้อย่างรวดเร็ว มีประโยชน์มากสำหรับคนฝึกสมาธิใหม่ๆ เพราะช่วยให้อารมณ์หรือความคิดที่มีอยู่มากมายในใจเราลดลงไป ทำให้ใจเป็นสมาธิได้เร็วขึ้นมาก และจะทำให้เรานั่งสมาธิได้ดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน กลับกัน..บางคนหากไม่ได้เดินจงกรมแล้วมานั่งสมาธิ ก็อาจจะทำให้นั่งสมาธิไม่ได้ ใจรู้สึกอึดอัด เพราะยังมีเรื่องราวมากมายที่อยู่ในใจไม่สามารถเคลียร์ได้
การเดินจงกรม ยังเป็นการฝึกสมาธิตื้น หรือ เรียกได้ว่าเป็นสมาธิพื้นฐานที่เราใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน คนที่ฝึกเดินจงกรมมากๆ จะทำให้สมาธิในการทำงานดีขึ้น มีสติขึ้น การวางแผนการทำงานดีขึ้น การทำงานในภาพรวมดีขึ้นทั้งหมด
การนั่งสมาธิ เป็นการฝึกให้ใจสงบมากขึ้น ทำให้เกิดสมาธิที่ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งหากเดินจงกรมมาก่อนนั่งสมาธิ จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิง่ายขึ้นมาก ง่ายตรงที่อารมณ์ในใจเราไม่ฟุ้งมาก ทำให้ใจสงบเป็นสมาธิได้ง่าย และเมื่อฝึกนั่งสมาธิไปชำนาญในระดับหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้เกิดความสุขในการนั่งสมาธิ ซึ่งทำให้เป็นกำลังใจในการฝึกสมาธิต่อไปมากขึ้น
เดินจงกรม และ นั่งสมาธิ ต้องทำทั้งคู่
การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่กัน ถ้าให้ผมเปรียบเทียบให้ชัดเจนขึ้น เราลองนึกภาพการใช้เครื่องกรองน้ำมากรองน้ำสำหรับดื่ม ปกติการกรองน้ำในบ้านของเรา เราก็มักจะมีการกรองใน 2 ระดับ คือ เมื่อน้ำประปามาถึงหน้าบ้านเราแล้ว เราก็ต่อท่อมาเข้าเครื่องกรองหยาบก่อน เพื่อกรองน้ำให้สะอาดในระดับแรก เพื่อให้ใช้ในบ้านได้ในทุกๆจุด หลังจากนั้นจุดไหนที่เราต้องการน้ำสำหรับดื่ม เราจึงเอาเครื่องกรองน้ำดื่มไปตั้งที่จุดนั้น เราก็จะได้น้ำสำหรับดื่ม
ถ้าเราเอาเครื่องกรองน้ำสำหรับดื่มมากรองน้ำประปาตั้งแต่ต้นจะเกิดอะไรขึ้น ผลก็คือ น้ำประปาที่ไม่ได้ผ่านการกรองชั้นต้นเลย อาจมีสกปรก หรือ ตะกอนแฝงอยู่มาก จะทำให้เครื่องกรองน้ำดื่มของเราตันเร็ว หรือทำให้เครื่องกรองน้ำดื่มทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร
การเดินจงกรม ก็เหมือน เครื่องกรองหยาบ
การนั่งสมาธิ ก็เหมือน เครื่องกรองละเอียด
เราจำเป็นต้องใช้เครื่องกรองหยาบ และเครื่องกรองละเอียดควบคู่กัน การกรองอารมณ์ของเราจึงจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น เหมือนกับการกรองน้ำที่ต้องใช้ทั้งเครื่งกรองหยาบกรองน้ำตอนเข้าบ้าน และเครื่องกรองละเอียดมากรองน้ำสำหรับดื่มอีกทีครับ
ทำสมาธินานเท่าไหร่จึงได้ผล
“ทำสมาธิ ทำเท่าไหร่จึงจะได้ผล” เป็นอีกคำถามที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่หัดทำสมาธิ แล้วอยากให้ได้ผลเร็วๆ จริงๆแล้วคำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะการเกิดผลของการทำสมาธิขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละคน
ถ้าจะเปรียบเทียบกับการออกกำลังกาย ก็เหมือนกับมีคนถามเราว่า “ออกกำลังกายมากเท่าไหร่ร่างกายเราจะแข็งแรง” ตอบยากใช่ไหมครับ แต่เราก็พอจะรู้คร่าวๆได้ว่า หากเราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัก 3-4 เดือน เราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายเราดีขึ้น แข็งแรงขึ้น จากประสบการณ์ของผม โดยทั่วๆไปแล้ว คนที่มาฝึกนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3-4 เดือน ก็จะเริ่มรู้สึกได้เช่นเดียวกันว่าฝึกสมาธิแล้วได้ผล
ได้ผลจากการทำสมาธิ วัดได้อย่างไร
คำว่า “ได้ผล” นั้นวัดได้อย่างไร ขอเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายอีกนะครับ เรารู้หรือวัดได้อย่างไรว่า ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้นแล้วหลังจากที่เราออกกำลังกายไประยะหนึ่ง มันวัดได้ยากแต่ก็พอสังเกตได้ เช่น เมื่อเราออกกำลังกายจนร่างกายแข็งแรงขึ้นแล้ว เวลาฝนตก อากาศเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนเคยเป็นหวัด แต่หลังจากออกกำลังกายก็ไม่เป็นหวัดเหมือนเคยเป็น หรือ เราสามารถยกน้ำหนักที่หนักขึ้นได้ นี่ก็เป็นการบอกว่าร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น ใจที่แข็งแรงขึ้น อาจไม่สามารถวัดได้ชัดเจน แต่ก็พอสังเกตได้ว่าใจเรามีกำลังขึ้น เช่น เรามีความสุขมากขึ้น มีสติมากขึ้น โมโหน้อยลง โกรธยากขึ้น โกรธน้อยลง ไม่ซึมเศร้าเหมือนเดิม นอนหลับง่ายขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นขึ้น นี่เป็นอาการที่บอกว่าใจเรามีกำลังมากขึ้นแล้ว
การทำสมาธิคือการสะสมพลังจิต
การทำสมาธิ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ที่แท้คือ การออกกำลังใจ เมื่อเราออกกำลังกาย เราก็จะได้กำลังกาย ทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเมื่อเราออกกำลังใจ เราก็จะได้กำลังใจ หรือ พลังจิต ทำให้เราจิตใจแข็งแรง
การออกกำลังกาย คือ การขยับ ยิ่งขยับมากยิ่งเท่ากับออกกำลังกายมาก แต่ออกกำลังใจนั้นต่างกัน การออกกำลังใจคือ การทำให้ใจนิ่ง ยิ่งทำให้ใจนิ่งได้มาก ใจยิ่งสะสมกำลังมาก
การออกกำลังกายนั้น ออกกำลังกายครั้งเดียวคงมิอาจทำให้ร่างการแข็งแรงได้ฉันใด การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม หากทำแค่ครั้งเดียว ก็คงมิอาจทำให้ใจแข็งแรงได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้นการทำสมาธิให้ได้ผลมีเคล็ดลับง่ายอยู่อย่างหนึ่งคือ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับการที่เราอยากให้ร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน
การออกกำลังกาย มิใช่ว่าเราจะโหมออกกำลังกายไม่หยุดเลยทั้งวันทั้งคืนแล้วร่างกายจะแข็งแรง เพราะหากเราทำอย่างนั้น แทนที่ร่างกายเราจะแข็งแรง ร่างกายของเรากลับยิ่งแย่ การนั่งสมาธิออกกำลังใจก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าเราอยากให้ใจสงบ เราอยากให้ใจเราแข็งแรง แล้วจะมาโหมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน สามวันสามคืน แล้วจิตใจเราจะแข็งแรงหรือมีกำลังมาก การทำอะไรก็ตามก็ทำให้สมดุลทำให้พอดีการทำสมาธิก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการทำสมาธิให้ได้ผลคือ ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรีบทำทีเดียวเยอะๆ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆทำ แต่ทำอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายที่อยากบอกในเบื้องต้นนี้คือ.. ทุกคนต่างทราบว่า การออกกำลังกายนั้น ถึงแม้ว่าจะดีแค่ไหน หากเราไม่เคยออกกำลังกายเลย มาออกกำลังกายครั้งแรก เราก็จะปวด จะเมื่อย จะล้า จะท้อ ทุกๆอย่างจะมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เหมือนกันครับ หากเราไม่เคยนั่งสมาธิ แล้วมานั่งสมาธิครั้งแรก เราก็จะปวด จะเมื่อย จะล้า จะท้อ และใจที่เขาบอกว่าให้ทำให้มันนิ่ง มันกลับยิ่งดิ้น เอาไม่อยู่ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆที่เราฝึกทำสมาธิ
วัตถุประสงค์การทำสมาธิ คือ การสะสมพลังจิต
การทำสมาธิมีวัตถุประสงค์ คือ การสะสมพลังจิต เป็นสิ่งที่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร เน้นย้ำให้นักศึกษาในหลักสูตรครูสมาธิทุกคนได้รู้ และเข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆของการทำสมาธิตั้งแต่การเริ่มเรียนในบทแรก
เมื่อก่อนเราอาจจะคิด เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุข แต่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านได้บรรยายให้กับนักศึกษาครูสมาธิทุกคนได้รู้ว่า เมื่อเราทำสมาธิ สิ่งที่เราจะได้คือ พลังจิต แล้วพลังจิตนี้แหละที่เป็นส่วนที่ทำให้เกิด ความสุข ความสงบ เกิดปัญญา และทำให้ใจเรามีกำลังมากพอที่จะทำอะไรหลายอย่างได้
พลังจิตที่แท้คือ กำลังใจ
หลายท่านพอเห็นคำว่า “พลังจิต” ก็อาจตกใจ คิดว่าเป็นสิ่งพิเศษหรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ จริงๆแล้ว “พลัง” ก็คือ กำลัง ส่วน “จิต” ก็คือใจของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นพลัวจิตก็คือกำลังของใจของเรา ผู้ที่มีพลังจิตก็คือผู้ที่มีใจที่มีกำลัง
ถ้าเราเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหาร เราจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น การที่เรารับประทานอาหาร สิ่งที่เราต้องการคือ สารอาหาร เช่น โปรตีน วิตตามิน แร่ธาตุ ที่อยู่ในอาหารนั้นเพื่อมาหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา เราคงไม่ได้รับประทานอาหารเพราะต้องการความอร่อย ความอร่อยคือผลพลอยได้เท่านั้น เราเปรียบความอร่อยเหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำสมาธิ เปรียบสารอาหารเหมือนกับพลังจิตซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆจากการทำสมาธิ
อันดับแรกที่เราต้องการในชีวิตคือ มีกิน มีปัจจัย 4 จริงไหมครับ
ถ้ายังไม่มีกินไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องทำมาหากินให้มีกินก่อน และแน่นอน การมีกินไม่ใช่มีกินแค่วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร เมื่อเรามีกินในวันนี้แล้ว เราก็ต้องการมีกินวันพรุ่งนี้ด้วย อันนี้เป็นความรู้สึกว่าชีวิตเราปลอดภัยขึ้น ครับหลายท่านคงจะเริ่มคุ้น นี้ก็เป็นไปตามกฏความต้องการ 5 ขั้นตอนของมาสโลว์
ปัญหามันเริ่มตรงที่ว่า คนเรามักไม่หยุดตรงที่มีกินมีใช้ พอเริ่มมีกินมีใช้ ก็อยากรวย พอรวย ก็อยากมีอำนาจ
ปัญหาก็ยังไม่จบอยู่ดีครับ เพราะพอรวย พอมีอำนาจก็ยังไม่หยุด มีความต้องการมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่จบไม่สิ้น
แล้วจริงๆชีวิตนี้ เราต้องการอะไร
ในทัศนคติของผม ผมขอตอบว่า “ความสุข” ที่หลายคนพยายามค้นหาและเพิ่มความร่ำรวย ความมีอำนาจ ก็เพราะคิดว่าระดับความสุขจะมีมากขึ้นตามระดับความร่ำรวยและอำนาจที่เพิ่มขึ้น
จริงๆแล้วมีบทพิสูจน์มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ความร่ำรวยและอำนาจไม่ใช่คำตอบ เช่น มีมหาเศรษฐีมากมายฆ่าตัวตาย มีรัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจมากมายถูกจำคุกและฆ่าตัวตาย มีผู้นำประเทศมากมายทั้งรวยทั้งมีอำนาจแต่ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดของตนได้ (อันนี้ขอละความคิดเห็นทางการเมืองว่าใครผิดใครถูก แต่ต้องการจะชี้ว่า ถึงแม่ว่ามีเงินมีอำนาจก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้) ลองนึกภาพว่า ถ้าเรามีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าไม่สามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวที่อบอุ่นได้ เราจะมีไปทำไม
แล้วทำไมคนยังอยากมีเงินมีอำนาจ
ถ้าให้ผมตอบก็เพราะความหลง ความหลงที่คิดว่าเป็นของดี คนที่หลงนั้นคือเขาไม่รู้หรอกว่าเขาเดินทางผิด หรือทั้งๆที่เขาเดินทางผิด เขาก็คิดว่าเป็นทางที่ถูก
คนที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะหาความสุขเจอ
ที่แท้ความสุขของเราอยู่ที่ .. ใจ ทุกคนตอบได้ แต่บางครั้งเราไม่เชื่อจริงๆใช่ไหมครับ ผมไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนหยุดทำมาหากินแล้วมานั่งสมาธิภาวนา เพราะอย่าลืมว่าปัจจัย 4 คือความต้องการพื้นฐาน ถ้าท้องยังไม่อิ่ม อย่าไปหวังความสุขอย่างอื่นเลย
แต่ผมหมายถึงการที่เรามีใจที่มีสติ มีความสุข และมีความพอดี …
1. ใจที่มีสติ จะช่วยหยุดหรือลดเรื่องร้ายๆเข้าสู่ชีวิตเรา และจะนำชีวิตเราไปสู่ทางที่ดีขึ้น
2. ใจที่มีความสุข จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้เรามีชีวิตที่มีคุณภาพดี และเป็นวัคซีนป้องกันหรือลดปัญหาหรือทุกข์ที่เข้ามา ถ้าเรามีความสุขมาก มีทุกข์เข้ามานิดเดียวมันก็ไม่กระทบใจ
3. ใจที่มีความพอดี ความพอดีคือพอดีสำหรับตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น ที่สำคัญคืออย่าเปรียบเทียบความพอดีของเรากับคนอื่น เพราะทันทีที่เริ่มเปรียบเทียบก็อาจจะเกิดทุกข์ได้
แล้วทำอย่าไรใจจะมีสติ มีความสุข และรู้จักพอดี … ก็ต้องทำให้ใจมีพลังหรือกำลัง
เราทำให้ใจเรามีพลังหรือกำลังด้วยการฝึกจิต ด้วยการทำสมาธิ นั่งสมาธิ เดินจงกรม
Tags: ค้นหาชีวิต, ความต้องการในชีวิต, ความสุข, ทำสมาธิ, นักโทษ, นั่งสมาธิ, ผู้ต้องขัง, ภูเก็ต, เดินจงกรม, เรือนจำ, ใจ
ความรู้-ประสบการณ์, นั่งสมาธิ-เรียนสมาธิ, สุขภาพ กาย&ใจ | lupthawit 02/06/2013 | Comments (0)
“การทำสมาธิเป็นการเสียเวลา นั่งเฉยๆ เดินไปเดินมา ไม่เห็นได้อะไร จึงไม่อยากทำสมาธิ” ผมคิดว่านี่คงเป็นความคิดในใจของหลายๆคน เพราะการทำสมาธิ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม เป็นการฝึกจิต สิ่งที่ได้ไม่มีอะไรให้เห็นเป็นตัวเป็นตน จึงดูเหมือนไม่ได้อะไร แต่จริงๆแล้วสิ่งที่ได้อยู่ในใจ คนที่ปฏิบัติจะรู้เอง คนอื่นจะมารู้ด้วยไม่ได้ เหมือนเรารับประทานอาหาร เวลาอร่อย เราอร่อยเอง เวลาอิ่ม เราอิ่มเอง ไม่มีใครมารู้สึกอิ่มหรืออร่อยกับเราได้
หลายคนก็รู้ว่าทำสมาธิดี แต่ยังคงไม่เห็นความสำคัญ คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องทำ บางคนก็ลองทำครั้งสองครั้งแล้วคิดว่าไม่เห็นผลก็เลิกทำ จึงทำให้คนทำสมาธิไม่มากเท่าที่ควร คงเหมือนกับการออกกำลังกาย ถ้าเราหวังว่าจะออกกำลังกายสักครั้งหรือสองครั้งเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน เราก็คงทราบอยู่แล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ และต่างก็รู้กันว่า การออกกำลังกายนั้นดี หากไม่ออกกำลังกายเราอาจจะต้องป่วยด้วยโรคภัยหลายอย่างในอนาคต แต่เนื่องจากมันยังเป็นเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง และก็คิดว่าตอนนี้เราเองยังแข็งแรงอยู่ เราจึงยังไม่ออกกำลังกาย
การทำสมาธินั้นทำให้เราได้พักใจ ให้ความสงบ ได้การพักผ่อน ให้สติ ให้ปัญญา ช่วยให้มีเมตตา มีความรับผิดชอบ สิ่งดีๆที่เกิดจากสมาธิมีมากมาย แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าจะได้จากการทำสมาธิเพียงครั้งเดียว ต้องค่อยๆทำ ค่อยๆได้ เหมือนการออกกำลังกาย หรือการรับประทานอาหาร จะให้กินข้าวครั้งหนึ่งหลายๆหม้อแล้วจะให้เด็กโตเร็วๆก็คงเป็นไปไม่ได้
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคนตัดไม้ คนตัดไม้หากไปตัดวันแรกจะตัดได้ 100 ต้น พอไปตัดวันที่ 2 จะตัดได้เหลือ 90 ต้น พอไปตัดวันที่ 3 จะตัดได้เหลือ 80 ต้น จะลดลงไปเรื่อยๆ เพราะอะไร ก็เพราะว่าความคมของขวานลดลงเรื่อยๆ หากไม่รู้จักหยุดตัดไม้เพื่อลับขวาน เราก็จะต้องทำงานหนักขึ้นหนักขึ้นเพื่อให้ได้งานเท่าเดิม จิตใจของเราก็เป็นเช่นเดียวกัน หากไม่รู้จักพัก ความสามารถของใจเราก็จะลดลง ความสามารถของใจที่ลดลงก็หมายถึง เราอาจจะเครียดง่ายขึ้น เศร้าง่าย โกรธง่าย หายช้า นอนไม่หลับ อย่างนี้เป็นต้น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม จริงๆแล้วมิได้ทำให้เสียเวลา แต่อาจจะทำให้เราใช้เวลาที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเราลับขวานของเรา
วันนี้ผมมีเรื่องดีๆ มีประโยชน์สำหรับทุกท่านมาฝากครับ…
การทำสมาธินั้นมีประโยชน์อย่างมากมายสำหรับผู้ปฏิบัติ ทำให้เรามีสติ รู้ตัว ใจเย็น ลดอารมณ์ที่วุ่นวาย เป็นการพักผ่อน และประโยชน์อีกมากมาย การทำสมาธิเป็นการออกกำลังใจซึ่งทำให้จิตใจแข็งแรง เหมือนการออกกำลังกายซึ่งทำให้ร่างกายแข็งแรง
แต่ปัญหาก็คือ เรารู้ว่าดี แต่ไม่ได้ปฏิบัติ หรือไม่มีเวลาปฏิบัติ เหมือนรู้ว่าต้องออกกำลังกาย ออกกำลังกายแล้วดี แต่ก็ไม่ได้ทำ พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินธโร จึงคิดวิธีการทำสมาธิแบบง่าย แต่ง่ายแล้วได้ผลมาก เพื่อให้เราทุกคนมีโอกาสได้ทำสมาธิกันอย่างสม่ำเสมอ
อยากให้ทุกท่านลองปฏิบัติดู ง่ายๆ รับรองว่าเห็นผล แต่แน่นอน การที่เรามีร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องค่อยๆทำ ค่อยๆฝึก การทำสมาธิเพื่อให้ใจมีกำลังก็เช่นกัน ไม่ได้เห็นผลเพียงแค่ข้ามคืน จากประสบการณ์ของผม ผู้ที่ทำสมาธิ 2-3 เดือน ก็จะรู้สึกได้กับผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว
วิทิสาสมาธิ
วิทิสาสมาธิ คือ การปฏิบัติสมาธิของบุคคลทั่วไปอย่างง่ายที่สุด ทั้งบุคคลที่เคย และไม่เคยทำสมาธิมาก่อน เป็นการสะสมพลังจิตให้แก่ผู้ปฎิบัติ ที่สามารถทำได้ในทุกสถานที่ ทุกโอกาสตามความเหมาะสม
วิธีปฏิบัติ
ให้ปฏิบัติทุกวัน วันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) ครั้งละ 5 นาที ณ สถานที่ใดๆก็ได้ ไม่มีคนพลุกพล่าน ในลักษณะอิริยาบถนั่งจะเหมาะสมที่สุด โดยการบริกรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตลอดเวลา 5 นาที หรือมากกว่า
ผลที่ได้รับ
การกำหนดจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที ก็เท่ากับวันละ 15 นาทีนั้น เมื่อรวมกัน 30 วัน (1 เดือน) ก็จะได้สมาธิ 450 นาที หรือ 7.5 ชั่วโมง ซึ่งการทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อเดือนนั้น จิตจะมีพลังหรือเรียกว่า เป็นผู้มีพลังจิตเพียงพอแก่การควบคุมจิตใจ มิให้เกิดความหวั่นไหว เกิดความเครียด เกิดความวุ่นวาย ในทางตรงข้าม จะเป็นผู้มีความเบิกบาน มีสติ มีปัญญา มีหลักประพฤติดีงาม อันส่งผลให้เกิดความสงบสุข ทั้งแก่ตนเองและสังคม
ถ้าจะพูดว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต หลายๆท่านคงจะเห็นด้วย แต่อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าไม่จริง และอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสมาธิ เพราะอาจคิดว่า ที่ฉันมีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยเดินจงกรม ก็สามารถอยู่ได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร เมื่อก่อนผมก็คิดแบบนั้นครับ (ก่อนที่ผมจะได้มาเรียนสมาธิ)
ผมอยากยกตัวอย่างง่ายๆอันหนึ่ง ผมอยากเปรียบเทียบการทำสมาธิ เหมือนกับการออกกำลังกาย การออกกำลังกายก็เพื่อให้กายแข็งแรง การทำสมาธิก็เพื่อให้จิตหรือใจของเราแข็งแรงเช่นกัน
ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายของเราก็จะอ่อนแอ และค่อยๆเสื่อมทีละเล็กทีละน้อย แต่เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะความเสื่อมนั้นค่อยๆสะสม และยังไม่ได้แสดงอาการ แต่หากปล่อยปะละเลยให้นานวันเข้า ร่างกายที่เป็นสิ่งวิเศษและแข็งแรงของเราก็เริ่มที่จะไม่ไหว อาจจะเริ่มแสดงอาการโดยการที่เป็นหวัดบ่อยขึ้น เริ่มปวด เริ่มเมื่อย และโรคของความเสื่อมต่างๆก็ตามมา บางครั้งอาจรุนแรงกว่าที่เราจะคาดถึง
จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังจิต พลังของมันก็จะลดน้อยถอยลง แสดงถึงอาการมากมาย (ซึ่งบางครั้งเราอาจคิดไม่ถึง) เช่น การนอนไม่หลับ โกรธง่าย โมโหร้าย อ่อนไหวง่าย คุมสติตัวเองไม่อยู่ ยั้งอารมณ์ไม่ได้ ทำไปแล้วค่อยมาเสียใจทีหลัง อาการอย่างนี้ทุกคนคงเห็นด้วยว่าเป็นเพราะขาดสติ หรือขาดสมาธิ ผู้อ่านหลายท่านก็อาจมีประสบการณ์ใช่ไหมครับ ผมก็เคยเป็นเช่นกัน
ผมเองเคยเป็นคนที่ทำงานหนักมาก ทำแบบไม่สงสารตัวเอง เพราะคิดว่าตอนนี้ยังมีแรง ขอให้ลำบากเสียตั้งแต่ตอนนี้ ต่อไปจะได้สบาย จึงโหมทำงานหนักโดยไม่ได้สงสารร่างกาย ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ดูแลตัวเอง ผลก็คือ ตัวเองต้องมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคฮิตในผู้สูงอายุ แต่ผมเองกลับมาเป็นโรคนี้ตอนอายุแค่ 30 ต้นๆ
พอตัวเราทำงานมาก ก็คอยแต่สะสมความเครียดเอาไว้ ยิ้มก็ไม่เป็น มีแต่ความกังวลอยู่ในหัว ไม่ยอมปล่อยวาง รู้สึกว่าบางครั้งตัวเองหงุดหงิดง่ายขึ้น ทั้งๆที่บางครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อย และรู้สึกตัวเองว่าความโกรธของเราในบางครั้งนั้นรุนแรง อาจจะเป็นเพราะการสะสมความเครียดเป็นระยะเวลานานๆก็ได้
หลังจากที่ป่วยเป็น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ทำให้รู้ตัว สำนึกได้ ว่าชีวิตเรานั้นต้องการสมดุล ไม่ใช่มุ่งแต่ทำอะไรมากจนเกินไปแต่อย่างเดียว ก็แบ่งเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายมากขึ้น ร่างกายก็ดีขึ้นตามลำดับ
หลังจากได้เรียนสมาธิ ก็รู้สึกว่าใจของตัวเองสบายขึ้น โกรธน้อยลง หายโกรธเร็วขึ้น เรามีสติมากขึ้น หลับง่ายขึ้น (ทั้งๆที่ตัวเองหลับง่ายอยู่แล้ว) ยิ้มง่ายขึ้น (ปกติจะเป็นเสือยิ้มยาก) ให้อภัยคนอื่นมากขึ้น รู้ใจตัวเอง และคิดถึงใจคนอื่นมากขึ้น มีข้อดีที่ลึกซึ้งมากมายที่ผมได้รับจากการเรียนสมาธิ
เป็นความรู้สึกจริงๆครับว่าร่างกายของเรามีพลังขึ้น หลังจากได้นั่งสมาธิ และเดินจงกรมทุกเช้า
จากการแนะนำของอาจาย์ที่สอนสมาธิ ให้ลองนั่งสมาธิ เดินจงกรมตอนเช้ามืด ผมชนะใจตัวเอง ตื่นเช้าได้ (ทั้งๆที่คิดมาตลอดชีวิตว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับเรา) ลองนั่งสมาธิ และเดินจงกรมตอนตี 4 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ตอนนี้ผมก็ทำสมาธิตอนเช้ามืดต่อเนื่องมาได้หลายวันแล้ว (ยกเว้นคืนวันปีหม่วันเดียว)
ความรู้สึกแปลกอย่างหนึ่งคือ ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะง่วงนอนระหว่างวันเพราะต้องตื่นเช้า แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ตอนนี้รู้สึกว่า่ร่างกายของเรามีพลังมากขึ้น เหมือนกับแบตเตอรี่ที่ได้รับการชาร์จไฟเข้าไปใหม่
วันแรกๆของการทำสมาธิตอนเช้า รู้สึกตัวเองมึนๆบ้าง แต่เหมือนมีพลังลึกๆ แบบบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะตัวเรากังวลไปเองว่า เราต้องง่วงแน่ๆ แต่ก็ไม่ต้องนอนระหว่างวันเลยครับ
ตอนนี้หลังทำสมาธิตอนเช้า บางครั้งหากยังเช้ามาก ก็อ่านหนังสือ หรือนอนต่อแป๊บหนึ่ง แต่หลังจากตื่นแล้ัว จะรู้สึกสดชื่นมาก เหมือนตื่นจากข้างใน ไม่ใช่ตาตื่น แต่ตัวไม่อยากตื่นเหมือนที่เคยเป็น
อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านลองทำสมาธิดูครับ ไม่น่าเชื่อ ว่าการเดิน หรือนั่ง โดยการทำใจเราให้นิ่ง สงบ กำจัดอารมณ์ต่างๆทิ้่งไป จะมีผลดีกับชีวิตเรามากขนาดนี้
การนั่งสมาธิ มีประโยชน์มากมาย ช่วยให้ทั้งสุขภาพใจและกายของเราดีขึ้น ปกติก่อนการนั่งสมาธิ พระอาจารย์แนะนำให้เดินจงกรมก่อน ท่านผู้สนใจสามารถหารความรู้เพิ่มเติมได้ที่ วิธีการทำสมาธิ สำหรับผู้เริ่มต้น ด้วยการเดินจงกรม
วิธีการนั่งสมาธินี้ เป็นวิธีที่ผมได้รับการสอน จากพระอาจารย์ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ในการเรียน หลักสูตรครูสมาธิ @ สถาบันพลังจิตตานุภาพ จังหวัดภูเก็ต
วิธีการนั่งสมาธิ
๑. ถ้านั่งกับพื้น ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย ตั้งกายตรง
ถ้านั่งบนเก้าอี้ ให้นั่งห้อยเท้าตามสบาย ตั้งกายตรง หรือหลังพิงเก้าอี้ก็ได้
๒. ยกมือพนมระหว่างอก กล่าวคำอธิษฐานสมาธิ
กล่าวว่า ” ข้าพเจ้า ระลึกถึง คุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ คุณบิดา มารดา คุณครูบาอาจารย์ จงมาดลบันดาล ให้ใจของข้าพเจ้า จงรวมลงเป็นสมาธิ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ พุทโธ พุทโธ”
๓. เอามือลง วางบนตัก มือขวาหงายทับมือซ้าย หลับตาเบา ๆ
๔. เริ่มบริกรรม “พุทโธ ๆ ๆ ……..” ในใจจนกว่าจะเลิก ตามเวลาที่กำหนด
ปกติแนะนำให้ผู้เริ่มต้นนั่งสมาธิ นั่งสมาธิ 5- 30 นาที
๕. หลังจากนั้นให้ตั้งใจสวดแผ่เมตตาพิเศษ
กล่าวว่า “สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ, อะเวรา สุขะชีวิโน
ขอให้สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกันและกัน จงเป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด
กะตัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง, สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต
ขอให้สัตว์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ อันที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนั้นเทอญ”
Tags: จังหวัดภูเก็ต, ทำสมาธิ, นั่งสมาธิ, ภูเก็ต, วิธีการ, สถาบันพลังจิตตานุภาพ, สมาธิ, หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร, เดินจงกรม, เรียนสมาธิ
นั่งสมาธิ-เรียนสมาธิ, สุขภาพ กาย&ใจ | lupthawit 01/11/2010 | Comments (1)