Category: นั่งสมาธิ-เรียนสมาธิ

วิทิสาสมาธิ การทำสมาธิอย่างง่าย

วันนี้ผมมีเรื่องดีๆ มีประโยชน์สำหรับทุกท่านมาฝากครับ…

การทำสมาธินั้นมีประโยชน์อย่างมากมายสำหรับผู้ปฏิบัติ ทำให้เรามีสติ รู้ตัว ใจเย็น ลดอารมณ์ที่วุ่นวาย เป็นการพักผ่อน และประโยชน์อีกมากมาย การทำสมาธิเป็นการออกกำลังใจซึ่งทำให้จิตใจแข็งแรง เหมือนการออกกำลังกายซึ่งทำให้ร่างกายแข็งแรง

แต่ปัญหาก็คือ เรารู้ว่าดี แต่ไม่ได้ปฏิบัติ หรือไม่มีเวลาปฏิบัติ เหมือนรู้ว่าต้องออกกำลังกาย ออกกำลังกายแล้วดี แต่ก็ไม่ได้ทำ พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินธโร จึงคิดวิธีการทำสมาธิแบบง่าย แต่ง่ายแล้วได้ผลมาก เพื่อให้เราทุกคนมีโอกาสได้ทำสมาธิกันอย่างสม่ำเสมอ

อยากให้ทุกท่านลองปฏิบัติดู ง่ายๆ รับรองว่าเห็นผล แต่แน่นอน การที่เรามีร่างกายแข็งแรง เราก็ต้องค่อยๆทำ ค่อยๆฝึก การทำสมาธิเพื่อให้ใจมีกำลังก็เช่นกัน ไม่ได้เห็นผลเพียงแค่ข้ามคืน จากประสบการณ์ของผม ผู้ที่ทำสมาธิ 2-3 เดือน ก็จะรู้สึกได้กับผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว

วิทิสาสมาธิ

วิทิสาสมาธิ คือ การปฏิบัติสมาธิของบุคคลทั่วไปอย่างง่ายที่สุด ทั้งบุคคลที่เคย และไม่เคยทำสมาธิมาก่อน เป็นการสะสมพลังจิตให้แก่ผู้ปฎิบัติ ที่สามารถทำได้ในทุกสถานที่ ทุกโอกาสตามความเหมาะสม

 

วิธีปฏิบัติ

ให้ปฏิบัติทุกวัน วันละ 3 ครั้ง (เช้า-กลางวัน-เย็น) ครั้งละ 5 นาที ณ สถานที่ใดๆก็ได้ ไม่มีคนพลุกพล่าน ในลักษณะอิริยาบถนั่งจะเหมาะสมที่สุด โดยการบริกรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตลอดเวลา 5 นาที หรือมากกว่า

 

ผลที่ได้รับ

การกำหนดจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที ก็เท่ากับวันละ 15 นาทีนั้น เมื่อรวมกัน 30 วัน (1 เดือน) ก็จะได้สมาธิ 450 นาที หรือ 7.5 ชั่วโมง ซึ่งการทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อเดือนนั้น จิตจะมีพลังหรือเรียกว่า เป็นผู้มีพลังจิตเพียงพอแก่การควบคุมจิตใจ มิให้เกิดความหวั่นไหว เกิดความเครียด เกิดความวุ่นวาย ในทางตรงข้าม จะเป็นผู้มีความเบิกบาน มีสติ มีปัญญา มีหลักประพฤติดีงาม อันส่งผลให้เกิดความสงบสุข ทั้งแก่ตนเองและสังคม

 

ได้อะไรจาก การธุดงค์ ที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ถ้าถามผมว่าได้อะไรจากการไปธุดงค์ที่ดอยอินทนนท์ ผมขอบอกก่อนดีกว่าว่า ผมคาดหวังอะไรจากการไปธุดงค์ครั้งนี้ ความคาดหวังหลักของผมคือ การที่ผมจะได้ไปทำสมาธิ เพิ่มพูนพลังจิต เพื่อพัฒนาจิตของตัวเอง และอีกอย่างที่หวังไว้ในใจคือ อยากได้พบพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโรอย่างใกล้ชิดสักครั้งในชีวิต

ไปธุดงค์ครั้งนี้ ผมรู้สึกว่าได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้เยอะ เริ่มจากการที่เราได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมาก ซี่งปกติเราก็จะรู้สึกลำบาก แต่การไปธุดงค์ในครั้งนี้ ผมกลับรู้สึกว่าเราปล่อยวางได้ ตัดได้ ตัดสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในชีวิตได้มากขึ้น ผมไม่รู้สึกลำบากเลยในการไปธุดงค์ครั้งนี้ (ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพี่เลี้ยงเตรียมทุกอย่างให้พวกเราอย่างดี)

การที่เราได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น และถูกช่วยเหลือจากผู้อื่น ทำให้เรารู้คุณค่าของการให้ รู้อย่างลึกซึ้งถึงความหมายของมัน และปลื้มใจในไมตรีของทุกๆคนจนถึงวันนี้

การที่ทริปธุดงค์ของเรามีปัญหาอุปสรรค ก็ทำให้ทริปของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น การที่มีฝนตกหนักในคืนสุดท้าย จนทำให้เกือบนอนกันไม่ได้ แต่ด้วยกำลังใจจากพระอาจารย์ ด้วยความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยง ก็ทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคมาได้อย่างไม่ยาก

พระอาจารย์หลวงพ่อ กล่าวหลังจากนั่งสมาธิในคืนหนึ่งว่า “ถ้าเรามีพลังจิตเพียงพอ ถึงแม้ปัญหาจะใหญ่แค่ไหน ก็เหมือนเล็กนิดเดียว เราจะสามารถผ่านมันไปได้เพราะเรามีสติ แต่ถ้าเราไม่มีสติ มีพลังจิตน้อย ปัญหาแค่หัวไม้ขีด ก็สามารถรุกรามทำให้บ้านเมืองวุ่นวายได้”

ส่วนเรื่องที่ผมคาดหวังไว้คือ การสะสมพลังจิตนั้น กลับผิดคาดในช่วงแรก ช่วง 2 วันแรก ที่ได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ ผมกลับทำได้ไม่ดี จิตไม่รวม ทำสมาธิที่บ้านยังสามารถทำให้จิตรวมมากกว่า ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร อาจเป็นเพราะเราเหนื่อย หรือตื่นเต้นก็ไม่รู้ ในวันที่ 3 การนั่งสมาธิของผมจึงค่อยๆดีขึ้น สงบมากขึ้น จิตรวมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่คาดไว้

แต่สิ่งที่แปลก และสัมผัสได้อย่างชัดเจนคือ การที่ผมรู้สึกว่าผมมีพลังมากขึ้น ทั้งๆที่เราพักผ่อนน้อย นอนแต่ละคืนไม่กี่ชั่วโมง แต่มีพลังมากทั้งกายและใจ ทั้งๆที่ปกติถ้าผมนอนน้อย ผมจะเพลียมาก นี่แหละน่าจะเป็นพลังที่เราได้รับ

และสิ่งผมรู้สึกได้อย่างมาก และไม่เคยประสบแบบนี้มาก่อนในชีวิตนี้ เกิดขึ้นตอนกลับจากทริปนี้ คือ ผมรู้สึกอิ่ม ผมเพิ่งเข้าใจวันนี้เองว่าคำว่าอิ่มบุญนั้นเขารู้สึกกันยังไง มันยากที่จะอธิบายความรู้สึกออกมาครับ เป็นความรู้สึกดีมากๆ ปลื้ม ตื้นตัน อยู่ในหัวใจ อิ่มจริงๆครับ

ประสบการณ์ การธุดงค์ ที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

นักศึกษาครูสมาธิ เมื่อเรียนภาคทฤษฎี และสอบข้อเขียนผ่านแล้ว จะจบหลักสูตรครูสมาธิได้ ก็ต้องผ่านการสอบภาคสนามคือ “การเดินธุดงค์ ที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่” ถึงแม้จะรู้ว่าการไปธุดงค์นั้นจะไม่สบายเหมือนกับการปฏิบัติธรรมในวัด หรือในห้องเรียน แต่ผมคิดว่านักศึกษาครูสมาธิทุกคนต่างก็อยากไปเดินธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินธโร ผมเองก็เช่นเดียวกัน

ขอขอบคุณทีมพี่เลี้ยงทุกท่านที่ช่วยให้การธุดงค์ของเรามีความหมาย และประสบความสำเร็จ

การเดินธุดงค์ 4 วัน 3 คืน ที่ดอยอินทนนท์ สำหรับนักศึกษาครูสมาธิ 1300 คน ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ (แคนนาดา และ สหรัฐอเมริกา) นั้นจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่มีทีมพี่เลี้ยง และทีมงานที่แข็งแกร่งของพระอาจารย์หลวงพ่อ ท่านลองนึกถึงการเดินด้วยแถวเรียงหนึ่งของคนพันกว่าคน แค่แถวก็ยามกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว แต่คณะพี่เลี้ยงสามารถจัดแถวให้เดินได้อย่างเป็นระเบียบ มีการสลับกลุ่มให้ทุกกลุ่มมีโอกาสที่จะเดินใกล้พระอาจารย์หลวงพ่อ ในคณะนักศึกษามีตั้งแต่คนหนุ่มสาว จนถึงคนแก่อายุมากกว่า 60-70 ปี พระอาจาย์หลวงพ่อเองก็อายุ 92 ปีแล้ว ท่านก็เดินขึ้นเขาลงเขาไปร่วมกับพวกเรา การที่จะทำให้คนเมืองเอย่างเรา เดินในป่าได้ไปถึงจุดหมายทุกคน แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็ดูยากแล้ว

ขอขอบคุณทีมอาหาร ที่ได้จัดเตรียมอาหารให้พร้อมเสริฟร้อนๆสำหรับพวกเราได้ทุกมื้อ (ยกเว้นมื้อเที่ยง ที่เป็นข้าวห่อให้พวกเราไปทานระหว่างทาง)  มีการแบ่งประเภทอาหารเป็นอาหารทั่วไป และ อาหารมังสวิรัติ ตามจำนวนคนที่ลงทะเบียนเอาไว้ มีน้ำร้อนให้พวกเราชงกาแฟ บริการอาหารให้กับคนพันกว่าคนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตอนที่คิวยาวๆ ผมเข้าคิวอย่างมากก็รอไม่เกิน 10 นาที ก็ได้อาหารแล้ว เป็นการจัดการที่เป็นระเบียบ และมีประสิทธิภาพมาก

ขอขอบคุณทีมเต้นท์ ที่ได้จัดเตรียมเต้นท์ที่นอน (พวกเราในทีมภูเก็ตเรียกกันว่ารีสอร์ท ในแต่ละรีสอร์ท ก็จะมีวิลล่าเป็นหลังๆให้พวกเราทุกคน) ให้พวกเราอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่อง ทีมเต้นท์ต้องมาเก็บเต้นท์ในตอนเช้า พร้อมทั้งขนเต้นท์ และสัมภาระของพวกเราไปยังจุดพักแรมจุดถัดไป พอไปถึงจุดพักแรมตอนเย็น พวกเราก็เห็นเต้นท์เป็นพันเต้นท์ เรียงไว้เรียบร้อย สวยงาม อย่างเป็นระเบียบ นี่เป็นงานที่ไม่ง่ายจริงๆครับ

ขอบคุณลูกหาบ ที่คอยหาบสัมภาระให้พวกเรา พวกเราจึงสามารถเดินได้อย่างสบาย ขนาดพวกเราเดินโดยมีแค่น้ำและของใช้เล็กน้อยติดตัว ก็เหนื่อยน่าดูแล้ว ลูกหาบต้องหามของขึ้นดอยหลายๆกิโล คงเหนื่อยมากกว่าเรามาก

ขอบคุณทีมสุขา ที่คอยทำส้วมให้พวกเราใช้ ส้วมที่จัดไว้ให้พวกเรา จะเป็นเต้นท์ทรงสูง ข้างในมีเก้าอี้เหมือนกับเก้าอี้นั่งถ่ายสำหรับผู้ป่วย และมีส้วมหลุมเอาไว้ให้ พวกเรา ในป่าแบบนี้ ถ้าไม่มีส้วม คงเป็นอะไรที่ลำบากมาก สำหรับคนพันกว่าคน

ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ทีมงานทุกทีม ทุกท่าน ที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมด ความสำเร็จของพวกเรา นักศึกษาครูสมาธิรุ่น 27 ในวันนี้ มีผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมากมาเหลือเกิน ขออนุโมทนาสาธุกับบุญความดีที่ทุกท่านได้ทำไว้ด้วยครับ

 

เที่ยวเชียงใหม่ ลำพูน ในทริปธุดงค์

การธุดงค์ @ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่

ทำบุญ นั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วได้อะไร

ถ้าถามว่า “ทำบุญ นั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์ แผ่เมตตา ทำแล้วได้อะไร”
ถ้าให้ตอบแบบตรงๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ผมก็คงต้องตอบว่า “ไม่รู้”

จริงๆแล้ว ตอนนี้ผมก็ปฏิบัติธรรมทุกวัน สวดมนต์ทุกวัน แผ่เมตตาทุกวัน ตักบาตรบ่อยขึ้นมาก สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง (จากเดิมไม่เคยเกินปีละ 2-3 ครั้ง)
ถามว่า ได้บุญไหม ตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์หรือเปล่า ผมตอบไม่ได้ครับ

รู้แต่ว่า ..  สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วใจสงบขึ้น นิ่งขึ้น มีสติมากขี้น

ตอนนี้ผมสวดมนต์เป็นประจำทุกคืนมาปีกว่าแล้ว แรกๆก็ไม่รู้สึกอะไร ออกจะรู้สึกว่าเสียเวลาด้วย แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า สวดมนต์ช่วยให้ใจเราสงบขึ้น

ผมนั่งสมาธิ เดินจงกรม มากกว่า 8 เดือน รู้และสัมผัสกับตัวเองได้เลยว่า สุขภาพดีขึ้น ทั้งกายและใจ มีสติขึ้นมาก

การแผ่เมตตา จริงๆก็ไม่รู้ว่า ญาติ หรือเจ้ากรรมนายเวรได้รับหรือเปล่า รู้แต่ว่า มันทำให้เรามีเมตตามากขึ้น จิตใจอ่อนโยนมากขึ้น เบียดเบียนสัตว์ และคนอื่นน้อยลง (ยกเว้น ยังตบยุงอยู่ประจำ ยังทำใจไม่ได้ เพราะมันกัดลูก จะให้ปัดอย่างเดียว ยังทำไม่ได้ครับ)

อยากแบ่งปันความรู้สึกดีๆ และเหตุผลง่ายๆของการปฏิบัติธรรมคือ พัฒนาตัวเราเอง และทำให้ตัวเราเองสบายทั้งกายและใจ

 

 

สมาธิ สิ่งจำเป็นในชีวิต

ถ้าจะพูดว่าสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต หลายๆท่านคงจะเห็นด้วย แต่อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าไม่จริง และอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสมาธิ เพราะอาจคิดว่า ที่ฉันมีชีวิตอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยเดินจงกรม ก็สามารถอยู่ได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไร เมื่อก่อนผมก็คิดแบบนั้นครับ (ก่อนที่ผมจะได้มาเรียนสมาธิ)

ผมอยากยกตัวอย่างง่ายๆอันหนึ่ง ผมอยากเปรียบเทียบการทำสมาธิ เหมือนกับการออกกำลังกาย การออกกำลังกายก็เพื่อให้กายแข็งแรง การทำสมาธิก็เพื่อให้จิตหรือใจของเราแข็งแรงเช่นกัน

ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายของเราก็จะอ่อนแอ และค่อยๆเสื่อมทีละเล็กทีละน้อย แต่เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เพราะความเสื่อมนั้นค่อยๆสะสม และยังไม่ได้แสดงอาการ แต่หากปล่อยปะละเลยให้นานวันเข้า ร่างกายที่เป็นสิ่งวิเศษและแข็งแรงของเราก็เริ่มที่จะไม่ไหว อาจจะเริ่มแสดงอาการโดยการที่เป็นหวัดบ่อยขึ้น เริ่มปวด เริ่มเมื่อย และโรคของความเสื่อมต่างๆก็ตามมา บางครั้งอาจรุนแรงกว่าที่เราจะคาดถึง

จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังจิต พลังของมันก็จะลดน้อยถอยลง แสดงถึงอาการมากมาย (ซึ่งบางครั้งเราอาจคิดไม่ถึง) เช่น การนอนไม่หลับ โกรธง่าย โมโหร้าย อ่อนไหวง่าย คุมสติตัวเองไม่อยู่ ยั้งอารมณ์ไม่ได้ ทำไปแล้วค่อยมาเสียใจทีหลัง อาการอย่างนี้ทุกคนคงเห็นด้วยว่าเป็นเพราะขาดสติ หรือขาดสมาธิ ผู้อ่านหลายท่านก็อาจมีประสบการณ์ใช่ไหมครับ ผมก็เคยเป็นเช่นกัน

ผมเองเคยเป็นคนที่ทำงานหนักมาก ทำแบบไม่สงสารตัวเอง เพราะคิดว่าตอนนี้ยังมีแรง ขอให้ลำบากเสียตั้งแต่ตอนนี้ ต่อไปจะได้สบาย จึงโหมทำงานหนักโดยไม่ได้สงสารร่างกาย ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ดูแลตัวเอง ผลก็คือ ตัวเองต้องมาเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคฮิตในผู้สูงอายุ แต่ผมเองกลับมาเป็นโรคนี้ตอนอายุแค่ 30 ต้นๆ

พอตัวเราทำงานมาก ก็คอยแต่สะสมความเครียดเอาไว้ ยิ้มก็ไม่เป็น มีแต่ความกังวลอยู่ในหัว ไม่ยอมปล่อยวาง รู้สึกว่าบางครั้งตัวเองหงุดหงิดง่ายขึ้น ทั้งๆที่บางครั้งเป็นเรื่องเล็กน้อย และรู้สึกตัวเองว่าความโกรธของเราในบางครั้งนั้นรุนแรง อาจจะเป็นเพราะการสะสมความเครียดเป็นระยะเวลานานๆก็ได้

หลังจากที่ป่วยเป็น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ทำให้รู้ตัว สำนึกได้ ว่าชีวิตเรานั้นต้องการสมดุล ไม่ใช่มุ่งแต่ทำอะไรมากจนเกินไปแต่อย่างเดียว ก็แบ่งเวลาพักผ่อน และออกกำลังกายมากขึ้น ร่างกายก็ดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากได้เรียนสมาธิ ก็รู้สึกว่าใจของตัวเองสบายขึ้น โกรธน้อยลง หายโกรธเร็วขึ้น เรามีสติมากขึ้น หลับง่ายขึ้น (ทั้งๆที่ตัวเองหลับง่ายอยู่แล้ว) ยิ้มง่ายขึ้น (ปกติจะเป็นเสือยิ้มยาก) ให้อภัยคนอื่นมากขึ้น รู้ใจตัวเอง และคิดถึงใจคนอื่นมากขึ้น มีข้อดีที่ลึกซึ้งมากมายที่ผมได้รับจากการเรียนสมาธิ

นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพิ่มพลังให้กับชีวิต

เป็นความรู้สึกจริงๆครับว่าร่างกายของเรามีพลังขึ้น หลังจากได้นั่งสมาธิ และเดินจงกรมทุกเช้า

จากการแนะนำของอาจาย์ที่สอนสมาธิ ให้ลองนั่งสมาธิ เดินจงกรมตอนเช้ามืด ผมชนะใจตัวเอง ตื่นเช้าได้ (ทั้งๆที่คิดมาตลอดชีวิตว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับเรา) ลองนั่งสมาธิ และเดินจงกรมตอนตี 4 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ตอนนี้ผมก็ทำสมาธิตอนเช้ามืดต่อเนื่องมาได้หลายวันแล้ว (ยกเว้นคืนวันปีหม่วันเดียว)

ความรู้สึกแปลกอย่างหนึ่งคือ ตอนแรกคิดว่าตัวเองจะง่วงนอนระหว่างวันเพราะต้องตื่นเช้า แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ตอนนี้รู้สึกว่า่ร่างกายของเรามีพลังมากขึ้น เหมือนกับแบตเตอรี่ที่ได้รับการชาร์จไฟเข้าไปใหม่

วันแรกๆของการทำสมาธิตอนเช้า รู้สึกตัวเองมึนๆบ้าง แต่เหมือนมีพลังลึกๆ แบบบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะตัวเรากังวลไปเองว่า เราต้องง่วงแน่ๆ แต่ก็ไม่ต้องนอนระหว่างวันเลยครับ

ตอนนี้หลังทำสมาธิตอนเช้า บางครั้งหากยังเช้ามาก ก็อ่านหนังสือ หรือนอนต่อแป๊บหนึ่ง แต่หลังจากตื่นแล้ัว จะรู้สึกสดชื่นมาก เหมือนตื่นจากข้างใน ไม่ใช่ตาตื่น แต่ตัวไม่อยากตื่นเหมือนที่เคยเป็น

อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านลองทำสมาธิดูครับ ไม่น่าเชื่อ ว่าการเดิน หรือนั่ง โดยการทำใจเราให้นิ่ง สงบ กำจัดอารมณ์ต่างๆทิ้่งไป จะมีผลดีกับชีวิตเรามากขนาดนี้

แก้ปัญหา..นอนไม่หลับ ด้วยสมาธิ

การนอน เรื่องง่ายๆสำหรับคนทั่วไป แต่อาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางคนเพราะเขา”นอนไม่หลับ” ผมคิดว่าหลายๆคนก็อาจจะเคยนอนไม่หลับ แค่นอนไม่หลับคืนเดียวก็ทรมานแล้ว เช้าขึ้นระบบของร่างกายรวนหมดเลย เป็นอันทำงานทำการไม่ได้

ปัญหาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะคนที่เป็นส่วนมาก ไม่ใช่นอนไม่หลับแค่คืนเดียว แต่นอนไม่หลับหลายๆคืน หรือทุกๆคืน ทำให้บั่นทอนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

หลังจากที่ผมได้เรียนเรื่องสมาธิ ก็ได้รู้ว่าการการนั่งสมาธิ และเดินจงกรมนั้นให้ประโยชน์หลายอย่าง รวมถึงช่วยเรื่องการนอนไม่หลับด้วย มีหลายๆคนที่เดิมหลับยาก หรือหลับไม่สนิท พอได้มาเรียนสมาธิแล้ว ก็ช่วยให้หลับง่าย และหลับลึกขึ้น

ตามหลักสูตรครูสมาธิของพระอาจารย์ หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินทโร ท่านอธิบายเกี่ยวกับการนอนไว้ว่า การนอนก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เป็นการได้สมาธิโดยธรรมชาติ ที่เราไม่ได้นอนแล้วอยู่ไม่ได้ ก็เพราะเราขาดสมาธิ (ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) นั่นเอง

แต่สำหรับคนที่ทำสมาธินั้น แม้จะนอนน้อยก็สามารถอยู่ได้ เพราะสมาธิที่สร้างขึ้นโดยการทำสมาธิ (เช่น การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม) นั้นมีเพียงพอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับตัวผมเอง การเรียนสมาธิ ทำให้ผมหลับสนิทและหลับลึกขึ้น ทำให้ความเพลียระหว่างวันลดลง เมื่อก่อน ผมมักจะง่วง และต้องแอบงีบตอนกลางวัน อย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง แต่หลังจากการเรียนสมาธิมา 2-3 เดือน ผมแทบไม่ต้องนอนกลางวันเลย จะมีบ้างเฉพาะวันที่นอนดึก

เมื่อวาน ผมยังได้คุยกับพี่จิ๊บ (นักศึกษาครูสมาธิ รุ่นที่ 26) พี่จิ๊บมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับมาประมาณ 4 ปี ถึงขนาดต้องหาหมอกินยา และหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia พี่จิ๊บต้องทรมานกับโรคนอนไม่หลับอยู่หลายปี วิธีทางเดียวที่จะทำให้เธอนอนหลับได้ก็คือ “ยา” เริ่มกินยาทีละน้อย และก็ต้องเพิ่มขนาดขึ้น ทั้งๆที่รู้ว่ายาจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ก็จำเป็นต้องกิน เพราะได้ลองหลายวิธีเพื่อให้นอนหลับ แต่ก็ไม่เป็นผล

หลังจากที่พี่จิ๊บได้มาเรียนสมาธิในหลักสูตรครูสมาธิประมาณ 3 เดือน อาการนอนไม่หลับก็เริ่มดีขึ้น ลดการใช้ยาลง เหลือรับประทานยาเพียงแค่ครั้งละครึ่งเม็ด วิธีที่พี่จิ๊บใช้ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับคือ การนั่งสมาธิก่อนนอน หลังจากพี่จิ๊บทำกิจวัตรประจำวันเสร็จ และพร้อมเข้าน้อนแล้ว พี่จิ๊บก็จะนั่งสมาธิก่อนนอนประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นก็นอนทันทีเลย วิธีนี้ทำแล้วได้ผล และทำให้พี่จิ๊บหลับได้ง่ายขึ้น

ตอนนี้ได้ทำสมาธิมาประมาณ 9 เดือนแล้ว หลังจากไปเดินธุดงค์ที่ดอยอินทนนท์กลับมา ก็นอนหลับได้เอง ไม่ต้องใช้ยาอีกเลย หมอก็บอกว่าหายแล้ว ยาที่เหลือก็ให้เก็บเผื่อไว้จนหมดอายุ แล้วค่อยทิ้งมันไป

ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่สมาธิช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมาก

นั่งสมาธิ เดินจงกรม ตั้งแต่ตี 4

เมื่อวานเป็นวันที่เรียน หลักสูตรครูสมาธิ ภาคทฤษฎีเป็นวันสุดท้าย อาจารย์ที่สอนคือ อาจารย์ ชิราวุธ กรจรุงเกียรติ ได้สอนว่า ช่วงเวลาที่จะนั่งสมาธิ แล้วได้ผลดี ตามที่ของหลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินธโร คือ ช่วงเวลา ตี 4 – ตี 5 เพราะป็นช่วงเวลาที่สงบ เงียบ เป็นช่วงเวลาที่คนและสัตว์ทั่วไปยังไม่ตื่น มีสิ่งรบกวนต่างๆน้อย จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทำสมาธิ

พระอาจารย์ยังกล่าวไว้ว่า ช่วงเวลา ตี 4 – ตี 5 เป็นเวลาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงใช้ตรวจดูสัตว์โลก หรือบุคคลที่ควรจะได้รับคุณธรรม หรือผู้มีวาสนาที่สมควรได้สำเร็จมรรคผล

จริงๆแล้วอาจารย์ที่สอนในหลักสูตรครูสมาธิหลายท่านก็เคยแนะนำให้ตื่เช้ามานั่งสมาธิ แต่ด้วยความขี้เกียจ และไม่คิดว่าตัวเองจะตื่นเช้าไหว ก็เลยไม่เคยคิดจะทำเลย (สำหรับบางคน รวมทั้งผม เรื่องตื่นเช้าเป็นเรื่องที่ยากมาก จริงไหมครับ) แต่เมื่อวาน จะเพราะอะไรก็ไม่รู้ อาจารย์ ชิราวุธ กรจรุงเกียรติ ได้ชวนนักศึกษาครูสมาธิในห้องหลายครั้งให้ลองตื่นเช้านั่งสมาธิดู ครั้งแรกๆผมก็ไม่ยกมือหรอกครับ ก็ยังคิดว่าตัวเองคงทำไม่ได้ และคิดว่าไม่จำเป็น แต่อาจารย์ก็ได้พูดถึงประโยชน์หลายอย่าง จนผมตัดสินใจ เป็นไงเป็นการ ถ้าเราจะปรับตัวเพื่อทำสิ่งที่ดี ก็ควรลอง พออาจารย์ถามรอบสุดท้าย ว่าใครจะลองนั่งสมาธิตอนตี 4 บ้าง ก็มีคนยกมือเพิ่มขึ้นหลายคน

หลังจากที่ยกมือ ผมก็ตั้งนาฬิกาปลุกที่มือถือเลยครับ ปกติถ้าผมรับปากว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องพยายามทำให้ได้ ไม่อยากผิดสัญญากับอาจารย์ ก็เลยตั้งนาฬิกาปลุกทันที แต่ตั้งปลุกตอน 04.30 น. นะครับ ไม่ใช่ตี 4

เมื่อคืนก็นอนเร็วหน่อย ประมาณ 4 ทุ่มก็หลับแล้ว ก่อนนอนก็ตั้งจิตสัญญากับตัวเองไว้ว่าเราจะตื่นมาทำสมาธิ ไม่น่าเชื่อครับ ผมตื่นได้เองก่อนนาฬิกาปลุก คือตื่นตอนตี 4

หลังจากตื่นก็เข้าห้องน้ำแล้วมานั่งสมาธิเลย สิ่งที่รู้สึกแตกต่างจากทุกครั้งคือ นั่งสมาธิแล้วรู้สึกเบา โล่งสบายกว่าทุกครั้ง จิตของเราสงบได้เร็วกว่าเดิมมาก ซึ่งอาจารย์ก็อธิบายไว้แล้วว่าเป็นเพราะจิตของเรายังไม่ถูกรบกวนและสะสมเรื่องราวต่างๆ จึงทำให้เกิดสมาธิและจิตรวมได้ง่ายกว่า

หลังจากนั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง ก็เดินจงกรมอีกครึ่งชั่วโมง ก็แปลกอีกอย่างหนึ่งคือ สามารถกำหนดเวลาได้ครึ่งชั่งโมงเกือบพอดีโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาอีกเช่นกัน

หลังจากที่ทำได้ก็รู้สึกภูมิใจ และรู้สีกดีมากครับ วันนี้มีความรู้สึกแปลกๆ เหมือนมึนๆนิดๆ แต่ก็ไม่ใช่เวียนหัว (ไม่รู้เพราะกังวลว่านอนน้อยหรือเปล่า) แต่รู้สึกว่าตัวเองมีพลัง เพื่อนๆที่ไม่เคยตื่นเช้ามานั่งสมาธิ อยากให้ลองดูครับ

WordPress Themes