Posts tagged: แก้ปัญหา

มีปัญหาไม่สบายใจ สมาธิช่วยแก้ได้

ถาม: ป้ามีปัญหาไม่สบายใจ แต่ป้าก็ยังปฏิบัติอยู่ตามปกติ วันนี้หลังจากปฏิบัติเสร็จแล้ว ป้านั่งฟังเทปของพระอาจารย์ปราโมทย์. ก็รู้สึกใจเบาขึ้นแต่เหมือนกับมีเสียงแทรกบอกขึ้นมาว่าป้าหลอกตัวเองแต่เป็นเพียงเว็ปเดียว. ป้าอดคิดไม่ได้ว่าเพราะอะไร.

ทั้งๆที่ป้ารู้ว่าพระอาจารย์จะบอกว่าคิดก็รู้ว่าคิด แต่ป้าก็ยังมีความอยากที่จะได้รับฟังแนะนำอยู่. ป้าควรจะต้องทำอย่างไรต่อจึงจะตัดสิ่งนี้ไปได้ค่ะ
ขอบคุณค่ะ
(JJ 23/9/2558)

ตอบ: การวางเรื่องทุกข์ง่ายนิดเดียวจริงมั๊ยครับ คือ หยุดคิด ก็หยุดทุกข์ แต่มันยากตรงที่ทำไม่ได้ ยิ่งเรื่องนั้น เป็นเรื่องของเรา หรือ ของของเรา ก็ยิ่งวางได้ยาก หยุดคิดได้ยาก

ในการแก้ปัญหา แก้ได้ใน 2 ระดับ ครับ
1. ใช้อุบายแก้ปัญหา คือ ใช้อุบายให้ใจเราไปคิดอย่างอื่น ใช้อุบายในการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมื่อใจเรายังไม่แข็งแรงพอ
2. แก้ในระดับใจ คือ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ มีความเข้าใจ ปัญหานั้นก็จะทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปลง หรือถอดใจ แต่เพราะเข้าใจ

ระดับแรก เราต้องใช้อุบายในการแก้ปัญหาครับ คือ เราต้องรู้ว่าใจของเราต้องกินอาหารตลอดเวลา
* อาหารของใจคือ อารมณ์
* ถ้าใจเรากินอารมณ์ดี ใจก็จะดี
* ถ้าใจเรากินอารมณ์แย่ๆ ใจก็จะแย่

เมื่อเราทุกข์ อารมณ์แย่ๆมักจะถามโถมเข้าสู่ใจ แบบไม่ต้องคิดว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันจะเข้าสู่ใจเราโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติของมัน เราจึงต้องให้อุบายในการหยุดมัน ถ้าเป็นคนทั่วๆไป ก็เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนไปฟังเพลงดีๆสบายๆ หากิจกรรมทำ มันก็จะค่อยๆลืมอารมณ์เดิมๆ

สำหรับผู้ปฏิบัติ เราก็ใช้พุทโธ บริกรรมพุทโธ ซึ่งเป็นอารมณ์ดีๆเข้าไปเจือจางอามรมณ์ที่ไม่ดี  เอาอารมณ์ดีๆไปล้างอารมณ์ที่ไม่ดี การปฏิบัติอาจไม่ได้ผลในการทำครั้งเดียว แต่โดยปกติ ถ้าปัญหาไม่หนักเกินไป ทำไป 2-3 ครั้งก็จะดีขี้น ตรงนี้ต้องระลึกไว้ว่า “การที่เราล้างมือ แล้วมือยังไม่สะอาด ไม่ได้หมายคามว่า มันไม่สะอาดขึ้น” คือ มันค่อยๆดีขึ้น อาจจะไม่ได้ดีขึ้นแบบเห็นผลในครั้งเดียว

อีกอย่าง หากเรามีปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุครับ เราต้องรู้ว่า บางปัญหาเป็นของเรา เราต้องแก้ บางปัญหาไม่ใช่ของเรา ต่อให้เราไปแก้ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องอุเบกขา วางเฉย วางเฉยไม่ช่เพิกเฉย วางเฉยด้วยความเข้าใจ

ส่วนอีกระดับ ระดับ 2 คือการทำงานระดับใจ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ เราจะมีปัญญาพอที่จะยกทุกข์ออกจากใจเราเองโดยอัตโนมัติครับ ด้วยความเข้าใจนี่แหละครับ ตรงนี้ไม่ต้องอธิบายมากครับ เพราะจะเข้าใจเองเมื่อทำได้ ทำได้เพราะเกิดปัญญา สมาธิทำให้เกิดปัญญาก็ตรงนี้เลยครับ

เป็นกำลังใจนะครับ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 2: ทำไมสมาธิช่วยได้

เพราะอะไรสมาธิ จึงช่วยแก้ปัญหาได้
สมาธิเหมือนยาวิเศษที่แก้ปัญหาใจสารพัดปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็น เครียด นอนไม่หลับ มีทุกข์ในใจ ซึมเศร้า ท้อแท้ กังวล โกรธ หรืออีกหลายๆปัญหาใจได้อย่างได้ผล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ปัญหาหลายปัญหาที่เราประสพ ไม่ใช่เราไม่รู้วิธีการแก้ปัญหา บางครั้งเรารู้วิธีการแก้ปัญหาแต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้ เช่น หากถามทุกคนว่า รู้มั๊ยว่า เมื่อเราทุกข์ใจ จะทำอย่างไรให้หายทุกข์ หรือ เมื่อเราเครียด จะทำอย่างไรให้หายเครียด หลายๆคนรู้คำตอบอยู่แล้ว และตอบได้ทันทีว่า “ง่ายนิดเดียวคือ แค่หยุดคิด”

แค่หยุดคิดความทุกข์ก็เริ่มจาง แค่หยุดคิดความเครียดก็เริ่มหาย และทุกๆคนก็ไม่อยากทุกข์ไม่อยากเครียด แล้วทำไมเวลาทุกข์เวลาเครียด เราไม่หยุดคิดเราจะได้มีความสุข ก็ตอบได้ง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินว่า “ก็มันทำไม่ได้ เราหยุดคิดไม่ได้”

เราหยุดคิดไม่ได้ เพราะใจไม่แข็งแรงพอ
เราหยุดคิดไม่ได้หากใจเราไม่มีกำลัง เมื่อใจเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามตัวเราเองไม่ให้คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจตัวเราไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจของเราไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดหรือไม่จำเป็นต้องพูดได้ ตรงนี้หากเปรียบเทียบ ก็คงเปรียบได้กับคนแบกกระสอบข้าวสาร ถามว่าเรารู้วิธีที่จะแบกกระสอบข้าวสารหนัก 100 กก.ไหม เราก็ตอบว่า “รู้” แต่ให้เราไปแบกจริงๆทำได้ไหม เราก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกายของเราไม่แข็งแรงพอ หรือกายเราไม่มีกำลังมากพอ

ฝึกสมาธิเพื่อให้ใจแข็งแรง เมื่อใจแข็งแรงก็แก้ปัญหาได้
การนั่งสมาธิ การเดินจงรม เป็นวิธีการที่เราใช้ในการฝึกใจ ฝึกใจของเราให้ใจเราค่อยๆมีกำลัง เมื่อใจเรามีกำลัง ก็เปรียบเหมือนใจเราแข็งแรง เราก็จะแก้ปัญหาต่างๆของใจได้โดยง่าย เปรียบเหมือนคนที่ออกำลังกายแล้วแข็งแรงขึ้นพอที่จะยกของหนักๆได้ ซึ่งเดิมก่อนออกกำลังกายแล้วเขาไม่มีกำลังพอที่จะยกได้  การที่ใจของเรามีกำลังจะทำให้เรามีสติ มีความรอบคอบ มีปัญญา หยุดคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ ปัญหาหลายๆปัญหาจึงสามารถแก้ได้โดยง่าย

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 1: ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ แก้ได้ด้วยสมาธิ

แก้ปัญหา ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ ด้วยสมาธิ
พอรู้ว่าผมปฏิบัติสมาธิ ก็มักจะมีเพื่อนๆหลายคนมาปรึกษา และขอให้แนะนำวิธีการนั่งสมาธิ ผมกก็มักจะเริ่มต้นด้วยการคุยกันก่อนว่าต้องการนั่งสมาธิเพราะอะไร ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ รู้สึกมีความทุกข์ ไม่มีความสุข เครียด นอนไม่หลับ เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆที่หลายคนต้องการสมาธิมาใช้เป็นวิธีการในการแก้ปัญหา

ผมมักจะไม่เริ่มต้นด้วยการบอกวิธีปฏิบัติ เช่น ไม่ได้บอกว่านั่งสมาธิทำอย่างไร เพราะหากบอกไปแค่นั้น เขาไปทำก็มักจะไม่ได้ผล ที่ไม่ได้ผลก็เพราะ เขาไม่ได้รู้หลักการจริงๆของการที่ใช้สมาธิมาช่วยในการบำบัด หรือการทำให้ใจเราดีขึ้น

คนที่มีความทุกข์ เครียดมากๆ อยู่ดีๆให้ไปนั่งสมาธิ มักจะไม่ได้ผล
ด้วยประสบการณ์ของผมแล้ว.. ให้คนที่ทุกข์มากๆเครียดมากๆไปนั่งสมาธิ ทำไม่ได้หรอกครับ หรืออาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ลองนึกภาพคนที่มีความทุกข์มากๆ อยู่ๆจะให้เขามานั่งสงบๆเลย เขาทำไม่ได้ครับ ใจเขากระเจิง ยิ่งกดให้ใจนิ่ง ใจยิ่งดิ้น

ถ้าผมเปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับการที่เราเอาเครื่องกรองน้ำแบบดีๆที่เขาใช้กรองน้ำสำหรับดื่มมากรองน้ำประปา น้ำประปาในบ้านเรา ส่วนมากน้ำประปาต้องผ่านระบบท่อที่เก่าๆหลายสิบปี มีการแตกการรั่ว น้ำที่มาถึงบ้านเราก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร พอมากรองด้วยเครื่องกรองน้ำแบบดีๆเพื่อกรองน้ำรับประทาน กรองไปไม่เท่าไหร่เครื่องกรองน้ำก็พัง เพราะไส้กรองมันตันเร็ว

สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล
อีกเหตุผลที่เราต้องคุยกันก่อนมาแก้ปัญหาด้วยสมาธิก็เพราะ สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล ผู้ที่จะมาฝึกสมาธิจึงควรต้องเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของการฝึกปฏิบัติก่อน เขาจึงจะมีความตั้งใจฝึกสมาธิจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ได้ผลได้

อ่อนนุ่ม กับ หยาบกระด้าง

เราคงชอบความอ่อนนุ่ม แต่มิใช่ว่าความหยาบกระด้างไม่มีประโยชน์ หากกระดาษทรายไม่มีความหยาบกระด้าง มันคงไม่สามารถขัดเกลาอะไรได้

“อ่อนนุ่ม กับ หยาบกระด้าง เราเลือกอะไร” คำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คงเลือกอ่อนนุ่ม คำถามนี้ผมใช้บ่อยในการบรรยายสมาธิ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รู้ถึงธรรมชาติของใจ คือ ใจของเราชอบในสิ่งที่ดีๆ เช่น รูปงาม กลิ่นหอม รสอร่อย เสียงไพเราะ สัมผัสอ่อนนุ่ม และปฏิเสธในสิ่งที่ตรงกันข้าม

ครับ คนทุกๆคนปรารถนาที่จะมีความสุข และปฏิเสธความทุกข์ ปรารถนาที่จะมีชีวิตปกติ แทนที่จะเจอปัญหา แต่หากเราเข้าใจ.. ไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ก็คือสิ่งปกติที่จะต้องผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ไม่ว่าชีวิตที่ดีการงานที่ดีราบรื่น หรือการที่ประสบปัญหาก็เป็นเรื่องปกติที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราเช่นเดียวกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้ได้จากอีกมุมหนึ่งของปัญหา คือ ปัญหาทำให้เราเก่งขึ้น ปัญหาทำให้เราแกร่งขึ้น ปัญหาช่วยยกระดับจิตของเรา และเราพัฒนาได้เมื่อเจอปัญหา ปัญหาคือบันไดที่ให้เราก้าวขึ้นไป เมื่อขึ้นไปได้ ตัวเราก็สูงขึ้น

คนส่วนมากมักจะกลัวปัญหา จนทำให้หนีปัญหา ไม่อยากแก้ปัญหา ถ้าเป็นเช่นนั้น แทนที่ปัญหาจะเป็นบันไดให้เราก้าวผ่านไป ปัญหากลับเป็นสิ่งขวางกั้นไม่ให้เราก้าวเดินได้ต่อไปได้

ความทุกข์บางครั้งก็เป็นเรื่องดี อย่างที่ท่านว่าไว้ “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” ปัญหาก็เป็นเรื่องดีได้ เพราะถ้าไม่มีปัญหา เราก็ไม่ได้พัฒนา

อย่างที่ถามไว้เบื้องต้น “อ่อนนุ่ม กับ หยาบกระด้าง เราเลือกอะไร” เราเลือกอ่อนนุ่ม แต่มิได้หมายความว่าความหยาบกระด้างไม่มีประโยชน์สำหรับเรา หากกระดาษทรายไม่มีความหยาบกระด้าง มันคงไม่สามารถขัดเกลาอะไรได้ ใจเราก็เช่นเดียวกัน หากเจอแต่ความรื่นรมย์ ความสุข ความสบาย ใจของเราคงไม่ได้รับการขัดเกลา

by.. หยดน้ำ

แก้ที่ ต้นเหตุ ของปัญหา

บ่อยครั้ง ปัญหาที่แท้จริงของเราคือ เราไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน
เมื่อไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เราแก็แก้ไม่ถูกจุด
เมื่อแก้ไม่ถูกจุด ปัญหาที่แท้จริงก็ไม่ได้รับการแก้

หยุด! แล้ว”พิจารณาตน”สักนิด อาจจะพบทางแก้ปัญหา
“ปล่อยวาง”สักนิด แล้วบางครั้ง ปัญหาอาจจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

by.. หยดน้ำ
ภาพ.. howtoblogwithpurpose .com

แก้ปัญหา

 

?? ปัญหา ต้องแก้ให้ถูกจุด ..

บางปัญหา ต้องแก้ที่เรา เราแก้
บางปัญหา ต้องแก้ที่คนอื่น ยังไงเราก็แก้ไม่ได้
แต่หลายครั้ง เราไม่รู้ปัญหาอยู่ที่ไหน
นั่นคือปัญหาครับ

by.. หยดน้ำ
ภาพ.. strefatuningu. pl

ปัญหา

WordPress Themes