Posts tagged: สมาธิ

มีปัญหาไม่สบายใจ สมาธิช่วยแก้ได้

ถาม: ป้ามีปัญหาไม่สบายใจ แต่ป้าก็ยังปฏิบัติอยู่ตามปกติ วันนี้หลังจากปฏิบัติเสร็จแล้ว ป้านั่งฟังเทปของพระอาจารย์ปราโมทย์. ก็รู้สึกใจเบาขึ้นแต่เหมือนกับมีเสียงแทรกบอกขึ้นมาว่าป้าหลอกตัวเองแต่เป็นเพียงเว็ปเดียว. ป้าอดคิดไม่ได้ว่าเพราะอะไร.

ทั้งๆที่ป้ารู้ว่าพระอาจารย์จะบอกว่าคิดก็รู้ว่าคิด แต่ป้าก็ยังมีความอยากที่จะได้รับฟังแนะนำอยู่. ป้าควรจะต้องทำอย่างไรต่อจึงจะตัดสิ่งนี้ไปได้ค่ะ
ขอบคุณค่ะ
(JJ 23/9/2558)

ตอบ: การวางเรื่องทุกข์ง่ายนิดเดียวจริงมั๊ยครับ คือ หยุดคิด ก็หยุดทุกข์ แต่มันยากตรงที่ทำไม่ได้ ยิ่งเรื่องนั้น เป็นเรื่องของเรา หรือ ของของเรา ก็ยิ่งวางได้ยาก หยุดคิดได้ยาก

ในการแก้ปัญหา แก้ได้ใน 2 ระดับ ครับ
1. ใช้อุบายแก้ปัญหา คือ ใช้อุบายให้ใจเราไปคิดอย่างอื่น ใช้อุบายในการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมื่อใจเรายังไม่แข็งแรงพอ
2. แก้ในระดับใจ คือ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ มีความเข้าใจ ปัญหานั้นก็จะทำอะไรเราไม่ได้ ไม่ใช่เพราะปลง หรือถอดใจ แต่เพราะเข้าใจ

ระดับแรก เราต้องใช้อุบายในการแก้ปัญหาครับ คือ เราต้องรู้ว่าใจของเราต้องกินอาหารตลอดเวลา
* อาหารของใจคือ อารมณ์
* ถ้าใจเรากินอารมณ์ดี ใจก็จะดี
* ถ้าใจเรากินอารมณ์แย่ๆ ใจก็จะแย่

เมื่อเราทุกข์ อารมณ์แย่ๆมักจะถามโถมเข้าสู่ใจ แบบไม่ต้องคิดว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ มันจะเข้าสู่ใจเราโดยอัตโนมัติตามธรรมชาติของมัน เราจึงต้องให้อุบายในการหยุดมัน ถ้าเป็นคนทั่วๆไป ก็เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนไปฟังเพลงดีๆสบายๆ หากิจกรรมทำ มันก็จะค่อยๆลืมอารมณ์เดิมๆ

สำหรับผู้ปฏิบัติ เราก็ใช้พุทโธ บริกรรมพุทโธ ซึ่งเป็นอารมณ์ดีๆเข้าไปเจือจางอามรมณ์ที่ไม่ดี  เอาอารมณ์ดีๆไปล้างอารมณ์ที่ไม่ดี การปฏิบัติอาจไม่ได้ผลในการทำครั้งเดียว แต่โดยปกติ ถ้าปัญหาไม่หนักเกินไป ทำไป 2-3 ครั้งก็จะดีขี้น ตรงนี้ต้องระลึกไว้ว่า “การที่เราล้างมือ แล้วมือยังไม่สะอาด ไม่ได้หมายคามว่า มันไม่สะอาดขึ้น” คือ มันค่อยๆดีขึ้น อาจจะไม่ได้ดีขึ้นแบบเห็นผลในครั้งเดียว

อีกอย่าง หากเรามีปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุครับ เราต้องรู้ว่า บางปัญหาเป็นของเรา เราต้องแก้ บางปัญหาไม่ใช่ของเรา ต่อให้เราไปแก้ก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องอุเบกขา วางเฉย วางเฉยไม่ช่เพิกเฉย วางเฉยด้วยความเข้าใจ

ส่วนอีกระดับ ระดับ 2 คือการทำงานระดับใจ เมื่อใจเราแข็งแรงพอ เราจะมีปัญญาพอที่จะยกทุกข์ออกจากใจเราเองโดยอัตโนมัติครับ ด้วยความเข้าใจนี่แหละครับ ตรงนี้ไม่ต้องอธิบายมากครับ เพราะจะเข้าใจเองเมื่อทำได้ ทำได้เพราะเกิดปัญญา สมาธิทำให้เกิดปัญญาก็ตรงนี้เลยครับ

เป็นกำลังใจนะครับ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 3: ทำสมาธิเพื่อสะสมพลังจิต

วัตถุประสงค์การทำสมาธิ คือ การสะสมพลังจิต
การทำสมาธิมีวัตถุประสงค์ คือ การสะสมพลังจิต เป็นสิ่งที่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร เน้นย้ำให้นักศึกษาในหลักสูตรครูสมาธิทุกคนได้รู้ และเข้าใจวัตถุประสงค์จริงๆของการทำสมาธิตั้งแต่การเริ่มเรียนในบทแรก

เมื่อก่อนเราอาจจะคิด เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสงบ เราทำสมาธิเพื่อให้เกิดความสุข แต่พระอาจารย์หลวงพ่อ วิริยังค์ สิรินฺธโร ท่านได้บรรยายให้กับนักศึกษาครูสมาธิทุกคนได้รู้ว่า เมื่อเราทำสมาธิ สิ่งที่เราจะได้คือ พลังจิต แล้วพลังจิตนี้แหละที่เป็นส่วนที่ทำให้เกิด ความสุข ความสงบ เกิดปัญญา และทำให้ใจเรามีกำลังมากพอที่จะทำอะไรหลายอย่างได้

พลังจิตที่แท้คือ กำลังใจ
หลายท่านพอเห็นคำว่า “พลังจิต” ก็อาจตกใจ คิดว่าเป็นสิ่งพิเศษหรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ จริงๆแล้ว “พลัง” ก็คือ กำลัง ส่วน “จิต” ก็คือใจของเรานั่นเอง เพราะฉะนั้นพลัวจิตก็คือกำลังของใจของเรา ผู้ที่มีพลังจิตก็คือผู้ที่มีใจที่มีกำลัง

ถ้าเราเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหาร เราจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น การที่เรารับประทานอาหาร สิ่งที่เราต้องการคือ สารอาหาร เช่น โปรตีน วิตตามิน แร่ธาตุ ที่อยู่ในอาหารนั้นเพื่อมาหล่อเลี้ยงร่างกายของเรา เราคงไม่ได้รับประทานอาหารเพราะต้องการความอร่อย ความอร่อยคือผลพลอยได้เท่านั้น เราเปรียบความอร่อยเหมือนกับความสุขที่ได้จากการทำสมาธิ เปรียบสารอาหารเหมือนกับพลังจิตซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆจากการทำสมาธิ

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 2: ทำไมสมาธิช่วยได้

เพราะอะไรสมาธิ จึงช่วยแก้ปัญหาได้
สมาธิเหมือนยาวิเศษที่แก้ปัญหาใจสารพัดปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็น เครียด นอนไม่หลับ มีทุกข์ในใจ ซึมเศร้า ท้อแท้ กังวล โกรธ หรืออีกหลายๆปัญหาใจได้อย่างได้ผล ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ปัญหาหลายปัญหาที่เราประสพ ไม่ใช่เราไม่รู้วิธีการแก้ปัญหา บางครั้งเรารู้วิธีการแก้ปัญหาแต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้ เช่น หากถามทุกคนว่า รู้มั๊ยว่า เมื่อเราทุกข์ใจ จะทำอย่างไรให้หายทุกข์ หรือ เมื่อเราเครียด จะทำอย่างไรให้หายเครียด หลายๆคนรู้คำตอบอยู่แล้ว และตอบได้ทันทีว่า “ง่ายนิดเดียวคือ แค่หยุดคิด”

แค่หยุดคิดความทุกข์ก็เริ่มจาง แค่หยุดคิดความเครียดก็เริ่มหาย และทุกๆคนก็ไม่อยากทุกข์ไม่อยากเครียด แล้วทำไมเวลาทุกข์เวลาเครียด เราไม่หยุดคิดเราจะได้มีความสุข ก็ตอบได้ง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินว่า “ก็มันทำไม่ได้ เราหยุดคิดไม่ได้”

เราหยุดคิดไม่ได้ เพราะใจไม่แข็งแรงพอ
เราหยุดคิดไม่ได้หากใจเราไม่มีกำลัง เมื่อใจเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามตัวเราเองไม่ให้คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจตัวเราไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำได้ เมื่อใจของเราไม่มีกำลัง เราจะไม่สามารถห้ามใจของเราไม่ให้พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดหรือไม่จำเป็นต้องพูดได้ ตรงนี้หากเปรียบเทียบ ก็คงเปรียบได้กับคนแบกกระสอบข้าวสาร ถามว่าเรารู้วิธีที่จะแบกกระสอบข้าวสารหนัก 100 กก.ไหม เราก็ตอบว่า “รู้” แต่ให้เราไปแบกจริงๆทำได้ไหม เราก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกายของเราไม่แข็งแรงพอ หรือกายเราไม่มีกำลังมากพอ

ฝึกสมาธิเพื่อให้ใจแข็งแรง เมื่อใจแข็งแรงก็แก้ปัญหาได้
การนั่งสมาธิ การเดินจงรม เป็นวิธีการที่เราใช้ในการฝึกใจ ฝึกใจของเราให้ใจเราค่อยๆมีกำลัง เมื่อใจเรามีกำลัง ก็เปรียบเหมือนใจเราแข็งแรง เราก็จะแก้ปัญหาต่างๆของใจได้โดยง่าย เปรียบเหมือนคนที่ออกำลังกายแล้วแข็งแรงขึ้นพอที่จะยกของหนักๆได้ ซึ่งเดิมก่อนออกกำลังกายแล้วเขาไม่มีกำลังพอที่จะยกได้  การที่ใจของเรามีกำลังจะทำให้เรามีสติ มีความรอบคอบ มีปัญญา หยุดคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิดได้ ปัญหาหลายๆปัญหาจึงสามารถแก้ได้โดยง่าย

แก้ปัญหาด้วยสมาธิ 1: ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ แก้ได้ด้วยสมาธิ

แก้ปัญหา ทุกข์ใจ เครียด นอนไม่หลับ ด้วยสมาธิ
พอรู้ว่าผมปฏิบัติสมาธิ ก็มักจะมีเพื่อนๆหลายคนมาปรึกษา และขอให้แนะนำวิธีการนั่งสมาธิ ผมกก็มักจะเริ่มต้นด้วยการคุยกันก่อนว่าต้องการนั่งสมาธิเพราะอะไร ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ รู้สึกมีความทุกข์ ไม่มีความสุข เครียด นอนไม่หลับ เหตุผลเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักๆที่หลายคนต้องการสมาธิมาใช้เป็นวิธีการในการแก้ปัญหา

ผมมักจะไม่เริ่มต้นด้วยการบอกวิธีปฏิบัติ เช่น ไม่ได้บอกว่านั่งสมาธิทำอย่างไร เพราะหากบอกไปแค่นั้น เขาไปทำก็มักจะไม่ได้ผล ที่ไม่ได้ผลก็เพราะ เขาไม่ได้รู้หลักการจริงๆของการที่ใช้สมาธิมาช่วยในการบำบัด หรือการทำให้ใจเราดีขึ้น

คนที่มีความทุกข์ เครียดมากๆ อยู่ดีๆให้ไปนั่งสมาธิ มักจะไม่ได้ผล
ด้วยประสบการณ์ของผมแล้ว.. ให้คนที่ทุกข์มากๆเครียดมากๆไปนั่งสมาธิ ทำไม่ได้หรอกครับ หรืออาจไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ลองนึกภาพคนที่มีความทุกข์มากๆ อยู่ๆจะให้เขามานั่งสงบๆเลย เขาทำไม่ได้ครับ ใจเขากระเจิง ยิ่งกดให้ใจนิ่ง ใจยิ่งดิ้น

ถ้าผมเปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับการที่เราเอาเครื่องกรองน้ำแบบดีๆที่เขาใช้กรองน้ำสำหรับดื่มมากรองน้ำประปา น้ำประปาในบ้านเรา ส่วนมากน้ำประปาต้องผ่านระบบท่อที่เก่าๆหลายสิบปี มีการแตกการรั่ว น้ำที่มาถึงบ้านเราก็ไม่สะอาดเท่าที่ควร พอมากรองด้วยเครื่องกรองน้ำแบบดีๆเพื่อกรองน้ำรับประทาน กรองไปไม่เท่าไหร่เครื่องกรองน้ำก็พัง เพราะไส้กรองมันตันเร็ว

สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล
อีกเหตุผลที่เราต้องคุยกันก่อนมาแก้ปัญหาด้วยสมาธิก็เพราะ สมาธิไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วเห็นผล ผู้ที่จะมาฝึกสมาธิจึงควรต้องเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของการฝึกปฏิบัติก่อน เขาจึงจะมีความตั้งใจฝึกสมาธิจนนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ได้ผลได้

ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้

ดี-ชั่ว รู้หมด แต่อดไม่ได้

ดี-ชั่ว รู้หมด แต่อดไม่ได้
รู้ถูก-รู้ผิด แต่จิตถลำ
รู้ทุกข์-รู้โทษ แต่ถูกครอบงำ
รู้นรก-รู้สวรรค์ แต่ยังฝืนใจ

ถ้าไม่มีพลังจิต หรือกำลังใจเพียงพอ ยากที่จะแก้ปัญหาได้
ต่อให้เป็นคนที่ฝึกจิตมา ก็ใช่ว่าจะชนะกิเลส หรือแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง
เหมือนศิลาทับหญ้า เมื่อไหร่ศิลาอ่อนกำลัง หญ้าก็เจริญงอกงาม

หน้าที่ของเราคือฝึกจิตต่อไป เร่งความเพียร
วันนี้ คุณนั่งสมาธิหรือยัง !!

สอนต้วเอง เตือนตัวเอง ยาก … จริงไหม

ลูก: “พ่อครับ พ่อครับ เขาว่าผมเป็นหมา”
ลูก: “พ่อครับ พ่อครับ เขาว่าผมเป็นควาย”
พ่อ: “แล้วลูกเป็นอย่างที่เขาว่าหรือเปล่าล่ะ”
ลูก: “เปล่าครับ”
พ่อ: “ถ้าไม่เป็นเรื่องจริง แล้วเราไปสนใจทำไมล่ะ เดี๋ยวเขาเหนื่อยเขาก็หยุดเอง”

เราเคยสอนลูกสอนหลานของเราอย่างนี้หรือเปล่าครับ ผมก็สอนลูกของผมแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่าเราก็ไม่ต้องไปใส่ใจ แต่ถ้าเราเป็นอย่างที่เขาว่า ถ้ามีอะไรที่เราทำไม่ดี เราก็ปรับปรุงแก้ไข จริงไหมครับ

แล้วตัวเราเองล่ะ เราทำยังไงเมื่อเราโดนด่าโดนว่า บางครั้งเราก็เต้น บางครั้งเราก็โกรธในสิ่งที่เขาว่าเราใช่ไหม ถ้าเรากลับมาใช้สติ ถามตัวเองว่าที่เขาด่าเราจริงไหม ถ้าไม่จริงก็ไม่ต้องสนใจ ถ้าจริงเราก็ใช้โอกาสนี้แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น แค่นี้ก็จบ จริงไหมครับ

สอนคนอื่นนั้นง่าย แต่สอนตัวเองเตือนตนเองนั้นยากจริงไหมครับ จริงๆสิ่งที่ยากที่สุดคือทำอย่างไรให้เรามีสติรู้ทัน …. สมาธิคือคำตอบครับ

เรียนฟรี สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง (ชินนสาสมาธิ)

อบรมฟรี สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง (ชินนสาสมาธิ)
* เรียนรู้สมาธิตั้งแต่เริ่มต้น
* นั่งสมาธิ เดินจงกรมเพื่ออะไร
* นั่งสมาธิ เดินจงกรม ตามหลักปฏิบัติของหลวงปู่มั่น
* สมาธิช่วยควบคุมอารมณ์ได้อย่างไร

วันอาทิตย์ ที่3 ของทุกเดือน เวลา 08.30-16.00 น.
ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาภูเก็ต
ถ.พังงา ถัดจากธ.ออมสิน 100 เมตร
โทร 076 217321 (จ.-ศ. 17.30-20.30 น.) หรือ 081 677 7936
กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้า

รายละเอียดเพิ่มเติม www.SamathiPhuket.com

อบรม สมาธิ ฟรี จ.ภูเก็ต ชินนสาสมาธิ

เรียนสมาธิฟรี ชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง)

เปิดอบรม ชินนสาสมาธิ (สมาธิเพื่อชนะใจตนเอง)
หลักสูตร 1 วัน เวลา 09.00 -16.00 น.
ทุกวันอาทิตย์ ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา15 ศูนย์นำชัย จ.ภูเก็ต

ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ฝึกการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม และการฟังธรรมะ จะมีการบรรยายเกี่ยวกับพื้นฐานของการทำสมาธิ ให้ผู้เข้ารับการอบรมปฏิบัติจริงตามทฤษฎีที่ได้เรียนมา

เป้าหมายของหลักสูตร
– ให้ทุกคนรู้จักทำสมาธิแบบง่ายๆ
– ใช้เวลาเรียนและปฏิบัติน้อยแต่ได้ผลมาก
– รู้จักวิธีทำสมาธิเอาชนะใจตนเอง
– นำสมาธิไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
– ให้รู้จักการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง

เรียนภาคทฤษฎี
– จุดประสงค์การทำสมาธิ
– อิริยาบถ 4
– การบริกรรม
– ประโยชน์ของสมาธิ
– สมาธิกับการควบคุมอารมณ์
– วิทิสาสมาธิ (สมาธิอย่างง่าย)

เรียนภาคปฏิบัติ
– เดินจงกรม
– นั่งสมาธิ

ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
– บุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา อายุ 9 ปีเป็นต้นไป

การเตรียมตัวเข้าฝึกอบรม 
– แต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่จำกัดสี
– งดการใช้เครื่องมือสื่อสารขณะฝึกอบรม
– ในกรณีมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ

อาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตร ชินนสาสมาธิ: อ.จีระสิทธิ์ ถิระวิริยาภรณ์
อาจารย์ผู้ควบคุมการสอน ชินนสาสมาธิ: อ.ชิราวุธ กรจรุงเกียรติ

การสมัครเข้ารับการฝึกอบรม
ติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา15 ศูนย์นาชัย จ.ภูเก็ต หรือ โทร 076 217321 (17.30 – 20.30 น.)

 

การวางทุกข์ การกำจัดทุกข์จากใจ เรื่องง่ายๆ แต่ทำยากๆ

“การกำจัดทุกข์ ก็ต้องกำจัดตรงสาเหตุของทุกข์
สาเหตุของทุกข์ ไม่ได้อยู่ที่ไหนไกล อยู่ในใจเรา
การวางทุกข์ลง ก็เหมือนกับเราหิ้งถุงหนักๆ แล้ววางมันลง  
การวางถุงนั้นง่าย แต่การวางทุกข์เรากลับทำได้ยาก
สำหรับผู้ที่ฝึกตนเอง เรื่องยากๆ ก็ง่ายขึ้นได้”

 มีน้องคนหนึ่งเคยมาเรียนสมาธิ และถามว่า “พี่คะ ถ้าหนูมาเรียนสมาธิที่นี่ แล้วหนูจะสามารถลืมเรื่องที่ไม่อยากจำได้ไหม”  จากคำถามก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีเลยว่าน้องคนนี้คงจะมีทุกข์มาก จนลืมไม่ลง และอยากลืมมันออกไปจากใจให้ได้

ผมแสดงความเห็นใจ และถามน้องกลับไปว่า “จำเป็นต้องลืมด้วยเหรอ”
น้องเขาคงจะงง ผมก็อธิบายต่อไปว่า “ถ้าเรารู้ และเข้าใจ บางครั้งเราอาจไม่จำเป็นต้องลืมก็ได้นะ”
ความเห็นของผมก็คือ ถ้าเรามีสติ รู้ทันทุกข์ ทุกข์มันก็หายไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปพยายามลืม

ความทุกข์ที่เป็นความทุกข์ได้เพราะใจของเราคิดว่ามันเป็นทุกข์ เหตุการณ์เดียวกันอาจเป็นทุกข์สำหรับคนหนึ่ง แต่อาจไม่มีผลใดๆเลยกับคนอีกหลายๆคน นี่คือสิ่งพิสูจน์ว่าทุกข์เกิดเพราะใจของผู้ที่เป็นทุกข์นั้นคิดว่ามันเป็นทุกข์ เช่น สุนัขที่เราเลี้ยงไว้ถูกรถชน เราอาจจะเป็นทุกข์มาก แต่เหตุการณ์นี้อาจไม่มีผลดใดๆเลยกับคนที่เดินผ่านไปมา

รู้ทั้งรู้ว่า ความทุกข์มันเกิดที่ใจเรา แล้วทำไมเราตัดมันไม่ได้ ?

ที่เราตัดมันไม่ได้ เพราะ เราห้ามความคิดไม่ได้หรือตัดอารมณ์ของเราเองไม่ได้ เช่น เมื่อเราสูญเสียของที่เรารัก เราก็จะคิดซ้ำๆถึงแต่ของที่เรารัก พอคิดซ้ำๆ 100 ครั้ง 1000 ครั้ง ก็เหมือนกับเราเสียของที่เรารักไป 100 ครั้ง 1000 ครั้งเช่นกัน  หรือ เมื่อมีคนทำให้เราโกรธหรือเจ็บช้ำน้ำใจ เราก็จะมัวคิดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆหลายๆครั้ง ทำให้เรายิ่งเครียดแค้น และอยากจะล้างแค้น ตัวการที่ทำให้เราตัดความทุกข์ไม่ได้ก็คือการคิดซ้ำๆนี่แหละ การคิดซ้ำๆในทางลบ ก็จะเกิดพลังในทางลบ ทำให้เรายิ่งเศร้า ยิ่งโกรธ ยิ่งหดหู่

แล้วเราจะตัดหรือวางความทุกข์นี้ได้อย่างไร ?

สำหรรับคนที่ฝึกจิตด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ การวางความทุกข์นั้นไม่ใช่เรื่องยาก มันง่ายเหมือนกับการที่เราหิ้วถุงหนักๆอยู่ แล้วเราก็วางลงได้ทันที ความหนักก็ไม่อยู่ติดตัวเราอีกต่อไป แต่สำหรับคนที่ไม่เคยฝึก เรื่องง่ายๆแบบนี้อาจทำไม่ได้เลย จำทำให้เป็นทุกข์มาก เครียด นอนไม่หลับ และเกิดปัญหาต่างๆตามมาอีกมากมาย

“เวลาที่เราจะจมน้ำ ไม่ใช่เวลาที่เราจะมาหัดว่ายน้ำ” บางทีเราไม่เคยสนใจเรื่องการฝึกจิต หรือฝึกใจเราให้แข็งแรงเลย พอเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นมาในชีวิต ก็อาจทำให้เรารับไม่ได้ ทำให้ชีวิตย่ำแย่ไปเลยก็มี คำแนะนำของผมก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองมีทุกข์ก่อน แล้วค่อยฝึกใจตัวเองให้แข็งแรง เราสามารถฝึกได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับคนที่ไม่เคยฝึกจิตมาเลย ผมอยากแนะนำให้อ่านเรื่อง รู้จักใจ ที่ผมเคยเขียนไว้ก่อน ท่านจะได้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับใจของตน เมื่อท่านอ่านแล้ว ท่านก็จะรู้ว่าใจของเราต้องกินอาหาร และอาหารของใจก็คืออารมณ์ ถ้าใจได้รับอารมณ์ดี ก็จะมีความสุข ถ้าใจรับอารมณ์ไม่ดี ก็จะมีความทุกข์ เมื่อเรารู้พื้นฐานตรงนี้แล้ว เราก็แค่เอาอารมณ์ดีให้ใจกิน ความทุกข์ก็จะค่อยๆหมดไป

จะเอาอารมร์ดีมาจากไหนให้ใจกิน ?

“พุทโธ” คือคำตอบ คือแทนที่เราจะคิดถึงความทุกข์หรือเรื่องราวที่ทำให้เราเกิดทุกข์ ให้เรานึก “พุทโธ พุทโธ พุทโธ ๆๆๆๆ” ในใจแทน  จำไว้ว่าเมื่อไหร่จะคิดถึงทุกข์ ให้เปลี่ยนเป็นนึก”พุทโธ” เพียงง่ายๆแค่นี้ นอกจากท่านจะไม่ต้องตอกย้ำความทุกข์ลงไปในใจ การนึกพุทโธ จะทำให้ใจของท่านค่อยๆนิ่ง และทำให้ใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย

แน่นอนครับ ช่วงแรกๆของการนึกพุทโธ จะรู้สึกอึดอัด นึกได้แป๊บเดียว ก็จะกลับไปคิดถึงความทุกข์อีก ให้ลองพยายามทำให้ได้ ถ้ามีความทุกข์เข้ามามาก ก็ให้เรานึกพุทโธให้มากขึ้น นึกเร็วๆมากขึ้น เหมือนพุทโธเป็นกระสุนยิงความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในใจ ลองดูครับ แล้วจะค่อยๆดีขึ้น

 สุดท้ายนี้ ผมก็หวังว่า บทความนี้จะช่วยนำเสนอวิธีกำจัดทุกข์ออกจากใจให้กับท่านได้บ้าง และทำให้ทุกข์ในใจของท่านค่อยๆหมดไป

รู้จักใจ

“ใจ”หรือ“จิต” ไม่ใช่หัวใจ เป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเรา ใจอยู่ใกล้ชิดกับเรามาก แต่บางครั้งเรากลับรู้จักใจของเราน้อยเหลือเกิน เพราะอะไรเหรอครับ ก็เพราะใจเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ แต่ทุกคนต่างก็รู้ว่ามีอยู่จริง

เพราะใจเป็นนามธรรมนี่แหละครับ ทำให้อธิบายยากว่าใจเป็นอย่างไร เหมือนจะให้เราอธิบายว่าอาหารจานหนึ่งอร่อย อร่อยอย่างไร อธิบายได้ยาก แต่ถ้าได้ชิมก็จะรู้เองว่าอร่อยอย่างไร ถ้าภาษาธรรมเขาบอกว่าเป็น “ปัจจัตตัง” คือ รู้ได้ด้วยตนเอง (พิสูจน์ยาก)

หลังจากที่ผมเรียนสมาธิในหลักสูตร ครูสมาธิ ที่ สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขาภูเก็ต ก็ทำให้ผมรู้จักใจตัวเองมากขึ้น อย่างแรกอยากเล่าให้ฟังคือ

ลักษณะของจิตหรือใจ มีลักษณะดังนี้ ดิ้นรน (ไปหากามคุณ), กวัดแกว่ง, รักษายาก, ห้ามยาก, ดิ้นรนไปมา, เปลี่ยนแปลงง่าย,  เที่ยวไปไกล,  เที่ยวไปดวงเดียว, ไม่มีรูปร่าง, ไม่มีสี, อาศัยอยู่ในร่างกาย ท่านลองพิจารณาดูว่าจริงหรือไม่ ถ้าจะเปรียบก็เปรียบใจเราได้เหมือนลิง คือมันอยู่ไม่นิ่ง ต่อให้มัดลิงให้มันอยู่นิ่งๆ ลิงมันก็ยังยักคิิ้วหลิ่วตาได้

ใจของเราก็เหมือนร่างกาย ต้องรับประทานอาหาร ต้องออกกำลัง และต้องการพักผ่อน ..

อาหารของใจ ก็คือ อารมณ์ ใจของเราทำหน้าที่ รับอารมณ์ เก็บอารมณ์ แล้วก็ ใช้อารมณ์ เมื่อเรารับอารมณ์ดี เราก็เก็บอารมณ์ดี เราก็จะใช้อารมณ์ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารับอารมณ์ไม่ดี เราก็เก็บอารมณ์ที่ไม่ดี และก็ใช้อารมณ์ที่ไม่ดี เหมือนการรับประทานอาหารครับ ถ้าเรารับประทานอาหารขยะ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะเกิดโทษต่อร่างกายของเราเอง

ส่วนเรื่อการออกกำลัง การออกกำลังกาย และการออกกำลังใจนั้นมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการออกกำลังกายทำได้โดยการขยับ ยิ่งขยับยิ่งเท่ากับออกกำลังกาย ส่วนการออกกำลังใจนั้นต้องนิ่งครับ ยิ่งนิ่งเท่าไหร่ก็ได้ออกกำลังใจมากเท่านั้น

ร่างกายของเรา ถ้าทำงานโดยไม่พักผ่อนเลย ร่างกายก็จะทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ใจก็เช่นกัน ถ้าใจวุ่นวาย มีเรื่องให้คิด วิ่งไปตามอารมณ์ทั้งวันไม่หยุดพัก ใจของเราก็จะย่ำแย่ แต่การย่ำแย่นี้ไม่ใช่แย่เฉพาะที่ใจ มันส่งผลถึงร่างกายด้วย

ร่างกายของเราหากไม่ได้รับการออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ ร่างกายก็จะอ่อนแอ ป่วยง่าย ใจก็เช่นกัน หากใจไม่ได้ออกกำลังและพักผ่อนที่เพียงพอ ใจของเราก็จะอ่อนแอเช่นกัน ท่านอาจจะสงสัยว่าอาการอ่อนแอของใจเป็นอย่างไร คนที่ใจอ่อนแอก็มีอาการ เช่น นอนไม่หลับ เครียดง่าย ซึมเศร้าง่าย  โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย หายช้า …

การออกกำลังใจ และการพักผ่อนใจ ทำได้ง่ายๆโดยการนอนหลับ การนั่งสมาธิ และ การเจริญสติ แต่สิ่งที่ว่าง่ายนี้ บางคนอาจทำไม่ได้ถ้าไม่เคยฝึก

WordPress Themes